วันที่ 15 กันยายน 2565 ที่พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าการขับเคลื่อน 5 นโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ศธ. เข้าร่วม

นายทวีสิทธิ์ ใจห้าว รองศึกษาธิการภาค 8 กล่าวว่า ปัจจุบันครู 9 แสนคน ทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคาร สงเคราะห์และสถาบันการเงินอื่น ๆ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯมีเป้าหมายต้องการยุบยอดหนี้ของครูให้ลดลง ลดภาระหนี้โดยรวมให้น้อยลง รวมถึงบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีรายได้ต่อเดือน เหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฯ ใน 7 ประเด็น ได้แก่

1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยการเจรจาขอความร่วมมือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 70 แห่ง ปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยร้อยละ 0.3 โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

2.ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชําระหนี้ โดยไม่ให้เกินศักยภาพที่จะ ชําระคืนได้ด้วยเงินเดือน

3.ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายได้ดำเนินการชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย กับลูกหนี้ที่ผิดชําระ ซึ่งในระหว่างการชะลอการฟ้องนี้ ศธ.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลครูและเจรจาหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม ล่าสุดได้ร่วมกับธนาคารออมสิน สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู สร้างโอกาสใหม่ ให้ครูไทย” นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้

4.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ ระดับจังหวัด 77 แห่งระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง 236 แห่ง รวม 558 สถานีแก้หนี้ฯ ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้และ ปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงทะเบียนผ่าน http://td.moe.go.th โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นราย มูลค่าหนี้กว่า 5.8 หมื่นล้านบาท

5.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือ เงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

6.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการช.พ.คในกลุ่มแรก(ร้อยละ70ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 365,579 ราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

7.ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะด้านการเงินแก่ครูโดยร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและ ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้วางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพื่อให้ครูสามารถวางแผน มีวินัยในการบริหาร การเงิน และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคม โดยผลการดําเนินงาน มีผู้ลงทะเบียนกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งผ่านการอบรมแล้วกว่า 2 หมื่นราย

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ร่วมมือกับกองทุน กบข. จัด ”โครงการสินเชื่อ กบข. เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สิน ผู้ถูกฟ้องร้อง ผู้มีหนี้สินวิกฤติ หรือมียอดเงินเดือนเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 และเป็นสมาชิก กบข. สามารถกู้เงิน กบข. ในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนมาลดยอดหนี้ได้ ชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 0.50-1.00 บาท ต่อปี