วันที่ 19 ก.ย.2565 ที่หอประชุมคุรุสภา มีการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่อง พลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ครูและนักเรียนที่ร่วมประกวดนวัตกรรมดีเยี่ยม ดีเด่น ดีมาก ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และนวัตกรรมนักเรียน จาก 26 โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมผลงานกว่า 500 รายการ 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การนำเสนอนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและครูในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการความร่วมมือ “พัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียน” ระหว่าง สพฐ. กับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญในการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning รวมถึงการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ และต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียนที่มีความหลากหลาย และเกิดประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ. ได้ดำเนินโครงการฯ ทดลองในโรงเรียนที่เป็นจังหวัดต้นแบบ เขตพื้นที่ภาคกลาง รวม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระบุรี นครสวรรค์ และอ่างทอง โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เข้าร่วม 29 โรงเรียน และโรงเรียนในเครือข่ายอีก 4 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 33 โรงเรียน ครอบคลุมโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการมากว่า 9 เดือน ปรากฏผลสำเร็จที่ส่งผลให้คุณครูสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ได้มากกว่า 1,500 นวัตกรรม 

​​​​​​​

“กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านบทบาทของครู จากการทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ให้ครูปรับตัว เปลี่ยนบทบาทเป็น Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ การเรียนการสอนที่ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม แบบ Personalized Learning ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองโดยกระบวนการคิดขั้นสูง มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตของโครงการ จะถูกนำไปใช้เป็นสื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ โดยจะมีการขยายผลสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนครูและผู้เรียนให้เป็นนวัตกรทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ได้เช่นนี้ เป็นความสำเร็จที่มีต่อการพัฒนาสมรรถนะครูและผู้เรียน ซึ่งจะเป็นพลังผลักดัน ส่งผลต่อเนื่องในการพลิกโฉมประเทศด้านการ พัฒนาการศึกษาของชาติตามแนวคิด Thailand 4.0 ที่จะทำให้คนไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศประเทศให้ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมประเทศ ให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ” รมว.ศธ. กล่าว.