ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น เป็นคนหนึ่งที่ชอบเสน่ห์ความงามธรรมชาติของทะเลทราย ทั้งในดินแดนอาหรับ จอร์แดน อิหร่าน อียิปต์ หรือเอเซีย เช่น มองโกเลียนอก เขตปกครองจีน และที่กล่าวมายังคงเป็นเพียงแค่สัมผัสผิวเผิน เดินเล่นตามเส้นทางกำหนดไว้ ยังไม่เคยพักค้างแรมในทะเลทรายที่ใดสักคืน ทะเลทรายถึงใครจะมองว่ามีแต่เนินทราย แห้งแล้งและร้อน บางเวลามีพายุทรายพัดใส่ ถึงอย่างนั้นทะเลทรายย่อมมีความต่างของที่ตั้งภูมิศาสตร์แต่ละประเทศ และเมื่อมองในมุมศิลปะ จะแลเห็นว่าความงามของรูปทรงสัณฐานต่างๆ ราวกับภาพวาดบนเฟรมขนาดใหญ่ทีเดียว ในบรรดาชื่อทะเลทรายที่ถูกจัดให้เป็น 10 อันดับทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคือ ทะเลทรายโกบี เพิ่งมีโอกาสไปเดินเล่นทะเลทรายโกบีที่เมืองตุนหวง มณฑลกานซู ประเทศจีน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อากาศของเมืองกำลังเย็นสบาย อุณหภูมิกลางวันราว 25 องศา เย็นค่ำราว 18 องศา เมืองตุนหวง (Dunhuang) เมืองโอเอซิสกลางทะเลทรายโกบี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ประชากรราว 2 แสนคน (กลุ่มชาติพันธุ์ราว 55 กลุ่ม, ข้อมูลท้องถิ่น) แต่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในอดีต 2000 ปีมาแล้วเป็นเส้นทางสายไหมแห่งทวีปยูเรเชีย เชื่อมอารยธรรมแห่งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ปัจจุบันด้วยคเสน่ห์ของทะเลทรายครวญ (Singing Sand Dunes) ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว (Crescent Moon Lake / Yueya Spring) ได้กลายมาเป็นจุดขายท่องเที่ยวของเมืองนี้ ในแต่ละปีมีชาวยุโรปและเอเซียเดินทางมาเที่ยวสถานที่ดังกล่าว “ปีละกว่า 6 ล้านคน” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่า ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าไม่น้อยทีเดียวกับเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่โอเอซิสกลางทะเลทรายต้อนรับนักท่องเที่ยว และแน่นอน ผู้ที่มาแอดเวนเจอร์ ขี่อูฐ หรือมอเตอร์คาร์ วิ่งไปตามเส้นทางสันทรายกำหนดเฉพาะจุด (นอกนั้นได้รับการดูแลคุ้มครอง) ย่อมไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะค่าทัวร์ที่นี่ถูกกำหนดบริหารจัดการโดยรัฐบาลท้องถิ่น กล่าวถึงทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว หรือชื่อในภาษาจีน เย่ว์เหยา เฉวียน (Yueya Quan) จากข้อมูลนำชม เป็นทะเลสาบแห่งเดียวในอาณาบริเวณนี้ เป็นจุดแวะพักที่สำคัญของการค้าขายบนเส้นทางสายไหมในยุคโบราณ แต่เดิมทะเลสาบนี้มีความยาว 300 เมตร ล้อมรอบไปด้วยสันทรายขนาดใหญ่ ซึ่งสันทรายนี้มีความสัมพันธ์ทางกลศาสตร์ธรรมชาติ คือลมทะเลทรายจะพัดทรายขึ้นไปทับถมกันบนสันทราย จากสันทรายด้านหนึ่งไปยังสันทรายอีกด้านหนึ่ง โดยไม่พัดลงมาทับถมทรายด้านล่าง ทะเลสาบจึงไม่ถูกลืนหาย แต่ภาพทะเลสาบที่เห็นเป็นแอ่งเล็กๆ คล้ายพระจันทร์เสี้ยวเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง อีกส่วนหนึ่งมาจากช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านสูบน้ำใต้ดิน (บาดาล) ขึ้นไปใช้ในการเกษตร (ปลูกพืชผัก ผลไม้เช่นองุ่นทำไวน์) ประกอบกับผู้คนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเมืองนี้มากขึ้น จึงมีการใช้น้ำบาดาลมากขึ้นตาม ส่งผลให้น้ำในทะเลสาบนี้ตื้นเขิน ทางการเมืองตุนหวงจึงประกาศห้ามสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วยตัวเอง แต่ทางการมีวิธีบริหารจัดการน้ำให้โดยเฉพาะชาวเกษตร ด้วยระบบรางท่อส่งน้ำไปตามแปลงเกษตร ถึงแม้ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เหลือสภาพเพียงแอ่งเล็กๆ แต่ในบริเวณสันทรายรอบทะเลสาบแล้วยังคงความชุ่มชื้น ให้สัมผัสรับรู้ถึงความนุ่มของผืนทรายเมื่อสองเท้าย่ำลงไปบนทะเลทราย ในทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ยังเป็นที่ตั้งของศาสนวิหารเจ้าแม่ศาลเจ้าพญามังกร จึงทำให้ดูโดดเด่นกลางทะเลสาบและทะเลทราย และว่ากันว่า กวีชาวจีนมักเปรียบทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวนี้กับนัยน์ตาหรือริมฝีปากของหญิงสาว เพราะทะเลสาบเต็มไปด้วยความชุ่มฉ่ำและสวยงาม ในตอนกลางวัน ทะเลสาบจะสะท้อนเป็นสีน้ำเงินเข้มสวย ในตอนกลางคืน จะสะท้อนแสงดาวบนท้องฟ้า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อในความงามโรแมนติกและลึกซึ้ง ส่วนตรงนี้ดีที่สุด เอาภาพถ่ายทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ทะเลทรายครวญมาให้ชมกัน