วันที่ 29 กันยายน 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กรณีการให้บริการผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ณ ที่พำนักของผู้ป่วย  มีเนื้อหาสรุปดังนี้  ..

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีลักษณะที่ลดลง จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด และสอดคล้องกับการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาล จึงออกประกาศนี้ไว้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป พร้อมยกเลิกประกาศที่เกี่ยวข้องก่อนหน้า 3 ฉบับ

พร้อมระบุความหมาย “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation)” ว่า บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วย ระหว่างรอเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล หรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว หลังเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล หรือสถานที่รัฐจัดให้แล้วอย่างน้อย 10 วัน หรือตามระยะเวลาที่กรมการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และจำหน่ายเพื่อรักษาต่อเนื่อง ณ พำนักของผู้ป่วย โดยถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล หรือเป็นไปตามที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วน “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19

ให้สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วยที่ให้บริการเฉพาะกรณีโรคโควิด-19 เป็นสถานพยาบาลอื่น ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 แต่ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติ คำแนะนำ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการให้บริการกรณีโรคโควิด-19 ตามที่กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

สำหรับผู้ป่วยที่จะรับบริการในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบสถานพยาบาลและมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ป่วยที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ แนวทาง หรือคำแนะนำที่กรมการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ระหว่างรอการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วยระหว่างรอเตียงได้หรือตามแนวทางที่กรมการแพทย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด หรือ


(2) ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว หลังการเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล หรือสถานที่รัฐจัดให้แล้วอย่างน้อย 10 วัน หรือตามระยะเวลาที่กรมการแพทย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดและจำหน่ายกลับบ้านหรือที่พักอาศัยเพื่อรักษาต่อเนื่องที่สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย หรือ


(3) ผู้ป่วยที่มีลักษณะอื่นตามที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ในส่วนของสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ต้องมีสถานที่เป็นสัดส่วนแยกออกจากผู้อื่น สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมต่อการให้การรักษาพยาบาล หรือลักษณะอื่นตามแนวทางการให้บริการที่กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ต้องมีลักษณะการให้บริการ ดังนี้

(1) จัดหาอาหาร หรือมีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็น โดยผู้ป่วยไม่ต้องออกไปจัดหานอกที่พำนักด้วยตนเอง
(2) กรณีมีผู้อยู่อาศัยร่วม สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยและแยกตัวจากผู้ป่วยได้

ขณะที่การให้บริการในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย สถานพยาบาลที่จัดให้ผู้ป่วยรับบริการในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ต้องจัดให้มีการบริการและระบบสนับสนุนการให้บริการ ดังต่อไปนี้

(1) บริการดูแลผู้ป่วย
(2) ระบบรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน
(3) ระบบควบคุมการติดเชื้อ
(4) ระบบการจัดหาอาหารสำหรับผู้ป่วย

อีกทั้ง สถานพยาบาลที่จัดให้ผู้ป่วยรับบริการในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วยต้องจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการให้บริการในจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสม อย่างน้อยดังนี้

(1) บริการดูแลผู้ป่วย ต้องจัดให้มี

(ก) ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล
(ข) เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกชิเจนในเลือด (Pulse Oximeter)
(ค) ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการรักษา
(ง) มีระบบสื่อสารที่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา

(2) ระบบรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องจัดให้มีระบบการส่งต่อตามความเหมาะสม โดยมีระบบป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อระหว่างการส่งต่อ ดังนี้

(ก) กรณีสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ต้องจัดให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลนั้น
(ข) กรณีสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ต้องจัดให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนซึ่งมีศักยภาพในการรักษาพยาบาล หรือประสานศูนย์รับส่งต่อตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด

(3) ระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ต้องจัดให้มี

(ก) หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์
(ข) ถุงขยะติดเชื้อ
(ค) ระบบการจัดการขยะติดเชื้อที่เหมาะสม

(4) ระบบการจัดหาอาหารสำหรับผู้ป่วย ต้องจัดให้มีบริการอาหารที่จำเป็น เพียงพอ และเหมาะสม


ในส่วนของการติดตามและประเมินอาการ สถานพยาบาลที่จัดให้ผู้ป่วยรับบริการในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วยต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย ผ่านระบบการสื่อสารทุกวัน และผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามไปยังสถานพยาบาลได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล ระบุด้วยว่า สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ประเภท Home Isolation ซึ่งให้บริการผู้ป่วยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด-19 ณ ที่พำนักของผู้ป่วย เป็นการชั่วคราว ที่ให้บริการอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ถือว่าเป็นสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) ตามประกาศนี้

หนังสืออนุมัติสถานพยาบาลอื่นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกรณีให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 เป็นการชั่วคราว และหนังสืออนุมัติสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ประเภท Hotel Isolation และประเภท Community Isolation ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 (ณ ที่พำนักของผู้ป่วย เป็นการชั่วคราว ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าหนังสืออนุมัตินั้นจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน

ภายใต้บังคับแห่งวรรคหนึ่ง หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลอื่น ก่อนวันสิ้นอายุหรือก่อนวันถูกเพิกถอนหนังสืออนุมัติ และต้องให้การดูแลรักษาต่อเนื่องต่อไปตามจำนวนวันที่กรมการแพทย์กำหนด ซึ่งพันจากวันที่หนังสืออนุมัติสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ให้สถานพยาบาลอื่นนั้นดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปได้ตามจำนวนวันที่กรมการแพทย์กำหนด ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2565

สาธิต ปิตุเตชะ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข