สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

“เป็นชื่อเพรียกเรียกความพระสามเหลี่ยม    ร้อยเรียบเรียง ‘นางพญา’ ว่าขานไข

พระกรหนึ่งงามวิจิตรพิพิศพราย                มีรูปคล้ายนางพญาที่หากัน

พบในวัดโพธิญาณอันเก่าก่อ                   สร้างโรงทอต่อเติมเพิ่มสร้างสรรค์

ขุดพบพระดินเผาอย่างยาวนาน                สวยสะท้านต้องตามาตรึงใจ

มีสองแบบแนบคล้ายสังฆาฏิ                   เป็นสิริมงคลวิมลสมัย

ที่ “มีหู” เป็นพิมพ์ใหญ่ไม่คลอนคลาย       “ไม่มีหู” พิมพ์เล็กกายพิไลพรรณ

โบราณว่าร่วมครั้งกับนางใหญ่                 ที่ขึ้นในวัดนางพญาสุธาสรรค์

เล่าลือเรื่องพบผอบบรรจบจรรย์               ในเศียรสรรค์พระประธานย่านวัดดัง

ภายในมีนางเข่าตรง สังฆาฏิ                   องค์รพิเพี้ยงพร่างนางพราวพร่าง

มีองค์หนึ่งเป็นโรงทอลอออางค์               มีหูวางวรรณะงามรวมสามองค์

กล่าวถึงพระโฉมงามความทราบเรื่อง        ดินเรื่อเรืองน่านนทีศรีประสงค์

จึงหยาบเกล็ดเม็ดกรวดทรายในรูปทรง     ที่ร่อนลงละเอียดหน่อยไม่ค่อยมี

องค์พระนั้นตัดปีกหลีกออกกว้าง             เส้นโครงร่างเรียวลงพระทรงศรี

มารวิชัยเข่าในดูให้ดี                            พระเพลานี้หนาใหญ่คล้ายแท่งทำ

ตรงกลางแท่นเห็นเป็นช่องร่องลากลึก      ผิวผลึกขึ้นเป็นผดบดขยำ

เห็นริ้วลายรอยย่นคนควรจำ                   ด้านข้างยํ้าขยักตอกบอกชัดเจน

ครูสอนสั่งเลือกองค์หนาอย่าละเลี่ยง        ‘มีหู’ เฉียงแนบพระพักตร์จักมองเห็น

“ไม่มีหู” เส้นผอมบางตั้งเป็นเกณฑ์         ตามหลักเน้นดินเผาเก่าจะเข้าใจ

กราบขอพรองค์พระนางฯ กระจ่างจิต       เนรมิตเจตจำนงขอจงได้

เป็นมิ่งขวัญเจริญรับกับโชคชัย               ชนะภัยเรืองฤทธาสาธุการ”                                                          

จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองโบราณ เก่าแก่สืบต่อกันมายาวนาน วัดเก่าแก่ก็ มีอยู่มากมาย และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยถึงกรุงศรีอยุธยา พระเครื่องเก่าแก่ของจังหวัดพิษณุโลก ก็มีอยู่หลายกรุหลายวัด และมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ พระนางพญา กรุวัดนางพญา นับเป็นพระที่ได้รับความนิยมสูงสุด หนึ่งในพระเบญจภาคีอันเลื่องชื่อ พระกรุที่มีชื่อว่า พระนางพญา นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายกรุ  หลายพิมพ์  ค่านิยมก็ลดหลั่นกันไปตามความนิยม วันนี้จะขอกล่าวถึงพระนางพญากรุวัดโพธิ์ หรือที่ปัจจุบันมักเรียกว่า “กรุโรงทอ” 

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์มีหู จ.พิษณุโลก

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์มีหู จ.พิษณุโลก

วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศตะวันออกของแม่นํ้าน่าน ใต้โรงทอผ้าไทยลงมาเล็กน้อย ตรงข้ามกับบริเวณที่ตั้งของกรมทหาร โบราณสถานของวัดนี้ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ มีแต่ซากฐานของพระเจดีย์เป็นกองอิฐ ซึ่งบางแห่งก็เป็นเนินอิฐที่ปกคุมด้วยพงหญ้าและเถาวัลย์แทบมองไม่ออกว่าเป็นฐานเจดีย์ ยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันแทบจะไม่มีอะไรปรากฎให้เห็น พระเครื่องของกรุวัดโพธิ์ (กรุโรงทอ) เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายก็เมื่อมีการสร้างโรงทอผ้าไทยขึ้น ได้มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดโพธิ์ มีการขุดพบพระเครื่องที่บริเวณนี้ เป็นพระนางพญาเนื้อดินเผา มีทั้งเนื้อดินละเอียด และเนื้อหยาบ (แก่กรวด) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเฉกเช่นเดียวกับ พระนางพญา กรุวัดนางพญา                 

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์มีหู จ.พิษณุโลก              

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์มีหู จ.พิษณุโลก                                  

พุทธลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยม องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ  พระนางพญากรุโรงทอ มีอยู่สองพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ มีหู และพิมพ์เล็กไม่มีหู นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ซุ้มเส้นคู่ เนื้อชิน และพระสกุลท่ามะปรางค์ อีกจำนวนหนึ่ง จากการพบพระเครื่อง ในการสร้างโรงทอผ้าไทยนี้เองจึงมีคนเรียกขานชื่อพระกรุนี้จนติดปาก มาจนถึงปัจจุบันว่า “พระนางพญา กรุโรงทอ”      

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์ไม่มีหู จ.พิษณุโลก       

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์ไม่มีหู จ.พิษณุโลก                                                             

ด้านพุทธคุณ พระนางพญากรุโรงทอ มีพุทธคุณเฉกเช่นเดียวกับพระนางพญา กรุวัดนางพญา คือดีทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและโภคทรัพย์เป็นที่กล่าวขาน ปัจจุบันพระนางพญา กรุโรงทอนี้ค่อนข้างหาพระแท้ๆ ได้ยากครับ โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่มีหู พระนางพญา กรุโรงทอทั้งสองพิมพ์สนนราคาก็ค่อนข้างสูง แต่ราคาก็ยังย่อมเยากว่าพระของกรุวัดนางพญาแน่นอนครับผม

พระนางพญา กรุโรงทอ พิมพ์ไม่มีหู จ.พิษณุโลก