“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จ พระบรมราชินีนาถ : การดูแลคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา โดยเฉพาะกลุ่มพสกนิกรผู้ป่วยหรือผู้ทุกข์ร้อนจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุ ดังพระราชดำรัสที่สะท้อนให้เห็นน้ำพระทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า “...เรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าชื่นใจเป็นที่สุด เกี่ยวกับนายคริส เบญจกุล ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยรู้จักเขา แล้วก็อ่านในหนังสือพิมพ์ว่า เขาจอดรถลงไปช่วยสามี ภรรยาที่จักรยานคว่ำ ไม่ใช่ว่าเขาผลีผลามลงจากรถไปช่วย เขาเห็นเลือดเต็มตัว เขาก็ลงไปช่วย หยุดไปช่วย แม้จะตั้งตีสามแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วรู้สึกชุ่มชื่นใจว่า คริสนี่เป็นตัวอย่างของคนไทยรุ่นใหม่...” ในวันนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและการทรงงานในพระราชกรณียกิจด้านการดูแลคนไข้และผู้ประสบเคราะห์กรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากหนังสือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ นักพัฒนาเพื่อปวงประชาสุขศานต์ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้ครับ พระราชทานพระราชดำริก่อเกิด “หน่วยแพทย์พระราชทาน” ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นว่า ราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จเป็นจำนวนมาก มีอาการเจ็บป่วย พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชเสาวนีย์ให้แพทย์ที่ตามเสด็จในขบวนตรวจอาการ จ่ายยา และให้คำแนะนำแก่ราษฎรในการดูแลรักษาตนเอง ต่อมาได้มีราษฎรที่เจ็บไข้มาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แพทย์ที่ตามเสด็จไม่สามารถจะตรวจได้ในเวลาอันจำกัด พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะแพทย์ตามเสด็จเพิ่มเข้ามาประมาณ ๕-๘ ท่าน เรียกว่า “หน่วยแพทย์พระราชทาน” ซึ่งแพทย์คณะนี้จะให้การตรวจรักษาราษฎร โดยเฉพาะเพื่อให้สามารถช่วยเหลือพสกนิกรที่มาขอพึ่งพระบารมีของพระองค์ได้อย่างทั่วถึง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ศัลยแพทย์อาสา” ขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อผ่าตัดให้แก่ราษฎร ณ โรงพยาบาล ในท้องถิ่นนั้นๆ ช่วยให้ราษฎรผู้เจ็บป่วยไม่ต้องยากลำบากเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ หากแพทย์ตามเสด็จไม่สามารถที่จะตรวจรักษาคนไข้ได้ทันในช่วงเวลาเสด็จฯ ก็ทรงแก้ไข โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดินทางไปตรวจรักษาล่วงหน้า โดยจะให้การรักษาจนกว่าคนไข้จะหมด ซึ่งบางครั้งก็ดึกดื่น นอกจากนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ได้ร่วมมือจัดแพทย์และผู้ช่วยไปสมทบด้วยอีกคณะหนึ่ง ทรงรับคนไข้ที่ป่วยหนักและผู้ประสบเคราะห์กรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ กรณีที่แพทย์ตามเสด็จฯ ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในขณะนั้นหรือเป็นโรคที่ร้ายแรงต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งคนไข้เหล่านี้มีฐานะยากจน พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็น “คนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์” และมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ใกล้ท้องถิ่นนั้น โดยพระราชทานหนังสือรับรองพร้อมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ส่วนค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายานั้นจะพระราชทานแก่โรงพยาบาลโดยตรง หากผู้ป่วยไม่สามารถไปเองได้ จะทรงจัดเจ้าหน้าที่นำไปและพระราชทานค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ด้วย กรณีที่โรงพยาบาลในท้องถิ่นนั้นขาดบุคลากรทางการแพทย์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการรักษาก็ให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยพระราชทานค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้หากพระองค์ทรงได้รับทราบข่าวสารว่า มีบุคคลผู้ซึ่งทำความดีแก่สังคมแต่ต้องประสบเคราะห์กรรม หรือผู้ประสบภัยอันเป็นที่สลดใจ พระองค์ก็จะพระราชทานความช่วยเหลือโดยรับบุคคลผู้นั้นไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งทรงดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ยึดมั่นกระทำความดีตลอดไป ทรงห่วงใยและทรงดูแลคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ประดุจลูก เมื่่อทรงรับคนไข้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว กองราชเลขานุการในพระองค์ฯ จะรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การจัดทำประวัติคนไข้ เพื่อใช้พิจารณาพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัดก็จะนำเข้าพักในบ้านพักผู้ป่วยที่เขตดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยทั้งกลางวันและกลางคืน และพระราชทานอาหารจากห้องเครื่องของสวนจิตรลดาแก่ผู้ป่วย เมื่อถึงขั้นตอนการพบแพทย์ กองราชเลขานุการในพระองค์ฯ จะนัดแพทย์โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกพาไปพบแพทย์ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจำได้ว่า มีคนไข้รายใดบ้างที่มีอาการไม่ค่อยดี พระองค์ทรงเป็นห่วงมาก ทรงสอบถามถึงอาการอยู่เสมอ โปรดเกล้าฯ ให้จัดนางสนองพระโอษฐ์และอาสาสมัครเวียนกันไปเยี่ยมเยียนคนไข้เหล่านี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทุกวัน โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำตัวประดุจญาติของเขา ที่เขาจะไว้ใจบอกเล่าทุกข์สุข เผื่อจะสามารถปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ของเขาได้ การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น พระองค์ทรงมีพระเมตตาแผ่ขยายไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยอีกด้วย เช่นผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารับการรักษาในกรุงเทพฯ บางรายมีบิดา มารดาที่แก่ชราหรือมีลูกเล็กๆ ก็ทรงจัดการให้มีผู้ดูแลบุคคลเหล่านั้นแทนผู้ป่วย โดยส่งเงินพระราชทานค่าเลี้ยงดูไปให้เป็นรายเดือน หรือฝากเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนดูแลที่บ้าน หากผู้ป่วยต้องอยู่ที่โรงพยาบาลนานๆ ก็ทรงจัดให้ญาติเดินทางมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีบุตรที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็ได้รับพระราชทานการศึกษาตามสมควรอีกด้วย ด้วยพระเมตตาที่ทรงรับคนไข้เหล่านี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ได้ช่วยให้ราษฎรที่ยากจนได้มีโอกาสหายจากโรคร้าย สามารถกลับไปมีความสุขกับครอบครัว น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงช่วยเหลือราษฎร ผู้ไร้ที่พึ่ง นอกจากจะยังความปลาบปลื้มแก่คนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์และครอบครัวของพวกเขาแล้ว หน่วยแพทย์อาสายังเกิดความปิติยินดีและความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยได้ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เพื่อนร่วมสังคมคนอื่นๆ ด้วย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กระผมขออาราธนาอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลกปกป้องคุ้มครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ตราบนานเท่านาน ขอพระองค์ทรงพระเจริญ