โครงการ "U2T for BCG"  ของประเทศไทยกระหึ่มเวทีการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 19 ที่ประเทศญี่ปุ่น ปลัด อว.แสดงวิสัยทัศน์ชี้ความสำเร็จการขับเคลื่อนโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” พัฒนาทุกพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมุ่งใช้องค์ความรู้ - นวัตกรรมที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจบีซีจี    

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.นำเสนอผลงานของประเทศไทยในการนำเอามหา วิทยาลัยและสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มารับผิดชอบการพัฒนาตำบลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19  ใน “การประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 19 (19th S&T Ministers’ Roundtable, STS Forum)” ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มี 53 ประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

ปลัด อว. กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ต้องทบทวนนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยสำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ใช้แนวทางระบบเศรษฐกิจบีซีจี ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้

"อว. ได้นำเสนอและแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมซึ่งมีรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก 53 ประ เทศทั่วโลกเข้าหารือ ว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยจะมีบทบาทโดยตรงในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมุ่งเป้าโดยใช้บูรณาการองค์ความรู้ของทุกสาขาวิชาและมีข้อมูลของแต่ละพื้นที่โดยละเอียด นำมาทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยรัฐบาลได้มอบให้ อว. ดำเนินโครงการ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ" ซึ่งปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ให้มหาวิทยาลัยเข้าพัฒนาในพื้นที่ทุกตำบลทั่วประเทศ มุ่งใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจบีซีจี  ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจอย่างมาก และไทยยังเสนอที่จะร่วมมือกับทุกประเทศในการขยายผลของ U2T for BCG นี้อีกด้วย" ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ กล่าว