รัฐบาลประกาศน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขยั่งยืนครอบครัว ชุมชนเข้มแข็งยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเองด้วยการพึ่งพาปัจจัยภายในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนที่จะหันไปพึ่งพาปัจจัยภายนอกอันเป็นการดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาทตามวิถีแห่งความพออยู่พอกินตั้งแต่ปี2557 เป็นต้นมาปฏิบัติการขยายผลเชิงรุกไปถึงปี2560 นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(รองเลขาธิการ กปร.) เปิดเผยสื่อมวลชนเพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินชีวิตที่จะนำมาซึ่งการยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวมีความสุขอย่างยั่งยืนว่า ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ประชาชน (พ.ศ. 2557–2560) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯของทุกภาคส่วนในทุกด้านให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับประโยชน์ในการพัฒนาที่มีคุณภาพและยั่งยืน รองเลขาธิการกปร.ย้ำว่าแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดการขับเคลื่อนไว้ 7 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯในภาคการเกษตรและชนบท โดยเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้ความสำคัญกับหลักภูมิสังคม ด้วยการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรและประชาชนในชุมชน ซึ่งการบูรณาการจะให้ความสำคัญกับการร่วมมือของทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนรู้จักตนเอง และจัดทำแผนชุมชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ “สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง 140/2557 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธาน หัวหน้าหน่วยงานหลักในแต่ละยุทธศาสตร์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบูรณาการฯ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหมู่บ้านในประเทศ หรือ จำนวน 24,086 หมู่บ้าน” นายประสาทขยายความแก่สื่อมวลชนว่าพื้นที่เป้าหมายหลักเริ่มตั้งแต่ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯสาขา 2 แห่ง พื้นที่หมู่บ้านที่มีพื้นฐานการทำงานตามแนวทางระยะที่ 1 และค่อนข้างเข้มแข็ง ประกอบด้วย พื้นที่หมู่บ้านนำร่องของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พื้นที่หมู่บ้านนำร่องโครงการบูรณาการจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบABC และพื้นที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงฯ รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านที่รับประโยชน์จากโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ พื้นที่หมู่บ้านต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯของ ธกส. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหมู่บ้านตามแนวบริเวณชายแดนและพื้นที่ความมั่นคง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กปร. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ “คณะกรรมการชุดนี้ จะจัดทำแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีหลายหมู่บ้านที่มีประสบการณ์ในการดำเนินการ ประมาณ 24,000 กว่าหมูบ้าน ที่เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย” นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการ กปร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานนั้นจะเน้นความยั่งยืน ด้วยการน้อมนำแนวทางหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือการระเบิดจาก ข้างใน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน และจะมีการจัดทำเวทีประชาชน เพื่อให้จัดทำแผนชุมชนขึ้นมาเพื่อจะหาคำตอบว่ามีอะไรที่ชาวบ้านจะทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ อะไรที่นอกเหนือจากกำลังของชาวบ้าน โดยจะทำทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการสำรวจ การจัดทำข้อมูล พร้อมร่วมวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำแผนงานในการดำเนินโครงการต่อไป “เท่าที่ดูจากหมู่บ้าน 24,000 กว่าแห่ง พบว่ามีประสบการณ์ในการดำเนินการ และอยู่ในเกณฑ์ของคณะกรรมการ ประมาณ 1,000 กว่าหมู่บ้านที่ถือว่าเข้มแข็ง ในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดของราษฎรในการทำการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องอยู่ภายใต้ความพร้อมและตั้งใจที่จะดำเนินการของราษฎรเอง ไม่ใช่การเข้าไปชี้แนะชี้นำจากส่วนงานราชการ เพื่อให้ราษฎรทำแต่ต้องให้ราษฎรคิดเองและทำด้วยความสมัครใจของตนเอง” โดยรองเลขาธิการกปร.ขยายความว่าด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาปฏิบัติใช้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากประสบการณ์ ของผู้ที่ประสบความสำเร็จที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาปฏิบัติใช้นั้น จะต้องใช้เวลา 5-6 ปี ไม่ใช่แค่ปีสองปี ต้องอดทนในการทำงาน ต้องขยัน ต้องไม่ทำด้วยความโลภ ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่พระองค์พระราชทานมาให้ ต้องเป็นผู้ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองจึงจะแก้ปัญหาการดำรงชีวิตจากติดลบขึ้นมายืนได้อย่างมั่นคง ต้องใช้ความอดทนใช้ความรู้ ความอดกลั้น ต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีความรู้สึกที่จะอยากแบ่งปันให้กับผู้อื่น ไม่ทำงานด้วยตัวคนเดียว และไม่อยู่ตามลำพัง ต้องมีสังคม และอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความเข้าใจ “ยินดีที่จะเป็นผู้สนับสนุน วันใดที่ท่านสนใจหรือก้าวเข้ามาในเส้นทางนี้ สำนักงาน กปร. พร้อมที่จะให้คำปรึกษา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขา พร้อมที่จะให้ทุกท่านเข้าไปศึกษาเรียนรู้ รับการถ่ายทอด เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ได้ ถือเป็นกัลยาณมิตรที่จะช่วยจูงมือกันไปตามแนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้” นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการ กปร.กล่าวทิ้งท้าย สำนักงานกปร.ข้อมูล-ภาพเสกสรร สิทธาคม-เรียบเรียง