สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

วัดนาสนธิ์เป็นวัดเก่าแก่ในอดีตกาล วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกกำแพงเมืองของอาณาจักรตามพรลิงค์ (ซึ่งก็คือเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ) เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญควบคู่กับวัดท่าเรือ คือได้รับการสถาปนามาจากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อครั้งสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ทรงศรีวิชัยยุคแรก หรือเมื่อคราวสร้างเมืองพระเวียงเป็นเมืองหลวงที่สองของอาณาจักรตามพรลิงค์ บนหาดทรายแก้ว ในระหว่างปี พ.ศ.1089-1300 โดยจะอยู่ติดกับ วัดเตาปูน ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งเตาเผาเปลือกหอยเพื่อทำปูนขาวผสมยางไม้และข้าวเหนียว สำหรับก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ยุคแรก พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชคงเสด็จมาตรวจเตาปูน และทรงเห็นว่าเป็นสถานที่สงบเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ครั้นเมื่อสร้างพระธาตุเจดีย์แล้วเสร็จ จึงได้สถาปนาที่ตั้งเตาปูนเป็น ‘วัดเตาปูน’ และที่ประทับชั่วคราวเมื่อเสด็จมาตรวจดูเตาปูนเป็น ‘วัดนาสนธิ์’ พร้อมกันนี้ ได้โปรดฯ ให้สร้างพระพิมพ์บรรจุกรุไว้เพื่อสืบทอดอายุพระศาสนาที่วัดนาสนธิ์

พระกรุวัดนาสนธิ์ เป็นพระดินเผา นับเป็นพระพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดกรุหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ‘พระกรุวัดนาสนธิ์’ เท่าที่พบมี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์วงแขนหรือพิมพ์พระจันทร์เต็มดวง, พิมพ์ผานไถ และ พิมพ์ใบพุทราหรือพิมพ์ยอดขุนพล ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘พระไตรภาคี’ แห่งเมืองนคร (กรุท่าเรือ กรุนางตรา กรุนาสนธิ์)

พระกรุวัดนาสนธิ์ พิมพ์วงแขน ด้านหน้า

พระกรุวัดนาสนธิ์ พิมพ์วงแขน ด้านหลัง

พระพิมพ์ใบพุทรา หรือพิมพ์ยอดขุนพล กรุวัดนาสนธิ์ เป็นพระศิลปะสมัยศรีวิชัย ยุคต้นบริสุทธิ์ (ราว พ.ศ. 1100-1300) พุทธศิลป์ออกทางอินเดีย สกุลช่างปาละเสนะ ซึ่งเป็นต้นแบบพุทธศิลป์ขนมต้ม ของเมืองนครในสมัยต่อมา เป็นพระดินเผา องค์พระปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานบัวสองชั้น มีเกสรบัวภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว หรือ รัตนฆรเจดีย์ ขนาบด้านเสาประทีป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสถูปอโศกมหาราช อง 5 พระผึ่งผาย สง่า ล่ำสัน บึกบืน รายละเอียดบนพระพักตร์ปรากฎชัดทุกส่วน ทั้งพระขนง (คิ้ว) พระเนตร(ตา) พระนาสิก(จมูก) พระกรรณ(หู) พระโอษฐ์(ปาก) หรือป้องพระศอ(คอ) มี 4 เส้นพระเศียรเป็นปื้นคล้ายพราหมณ์โพกผ้า พระเกศสองขยัก (สองชั้น) มีประภามณฑลเป็นรัศมีสวยงามรอบพระเศียร ขนาดความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร 

เนื้อหามวลสาร มีทั้งเนื้อดินดิบ และเนื้อดินเผาสีออกวรรณะแดงหรือสีพิกุลแห้ง ถ้าเป็นเนื้อดินดิบไม่ผ่านการเผาสีจะออกวรรณะขาวอมเทาเนื้อหนึกนุ่มคล้ายพระพิมพ์วงแขน มวลสารประกอบด้วยดินศักดิ์สิทธิ์ ดอกไม้ ว่าน 108 และมีว่านดอกมะขามผุดให้เห็นตามผิวองค์พระมีเม็ดทรายแก้วขาวขุ่น และเปลือกหอยกาบชิ้นเล็กๆ เกาะติดอยูประปราย มีรารักสีดำและคราบขี้กรุดินจับอยู่แน่นทั่วองค์พระ บางองค์มีลายนิ้วมือ จากการกดแม่พิมพ์ปรากฏให้เห็นที่ด้านหลัง และด้านข้างขององค์พระชัดเจน

พระพิมพ์ใบพุทรา หรือพิมพ์ยอดขุนพล

พระพิมพ์ใบพุทรา หรือพิมพ์ยอดขุนพล

ในด้านพุทธคุณนั้นครอบจักรวาล ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ดีเยี่ยมทางรบทัพจับศึก อำนาจ บารมี โชคลาภวาสนา ป้องกันภัยนานาชนิด ผู้มีไว้ครอบครอง ย่อมแคล้วคลาดจากภัย–อันตรายใดๆ ทั้งหลายทั้งปวง ดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า "ผู้มีพระพิมพ์ศรีวิชัยติดตัว ย่อมมีชัยชนะอย่างสง่างามในทุกด้าน" ครับผม