วันนี้(10ตุลาคม 2559) เวลา10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. พร้อมด้วยนางสาวภัทราวรรณ ศิริชนม์ มารดาของเด็กหญิงภัคจิรา ทับงาม หรือน้องอิงฟ้า อายุ4ขวบ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนเมาขับรถชนรายล่าสุด และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า40 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่านทาง นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการออกมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะปัญหาเมาแล้วขับ นายเจษฎา กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับครอบครัวน้องอิงฟ้าต่อปัญหาเมาแล้วขับ ที่สร้างความสูญเสียให้กับคนบริสุทธิ์ และสร้างความสูญเสียมหาศาลกับครอบครัว และประเทศชาติ เป็นการเจ็บตายที่ไม่ควรเกิดขึ้น สาเหตุเพราะเสรีภาพในการดื่มที่ไม่รับผิดชอบ การละเมิดกฎหมาย และความอ่อนแอของกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดเพียงพอในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เป็นเพียงการตื่นตัวเฉพาะช่วงเทศกาลเช่นปีใหม่ สงกรานต์ เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง สุดท้ายสังคมไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากโศกนาฏกรรม ได้ ทั้งนี้จากการเก็บรวบรวมสถิติพบว่า แต่ละเดือนมีผู้พิการจากการเมาแล้วขับมี23 ราย และผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ187ราย นอกจากนี้เครือข่ายฯยังได้รวบรวมสมาชิกเหยื่อเมาแล้วขับจากโรงพยาบาลต่างๆกว่า8,200ราย ซึ่งพวกเขาเดือนร้อน ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง การใช้ชีวิต ลำพังเงินเบี้ยพิการไม่เพียงพอ ไม่ต่างจากกรณีน้องอิงฟ้าและครอบครัว นายเจษฎา กล่าวอีกว่า ในนามของครอบครัวผู้สูญเสียจากฆาตกรเมาแล้วขับ เหยื่อเมาแล้วขับที่ต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิตและภาคีเครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนต่อกระทรวงยุติธรรมดังนี้1.ขอสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่4ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบกรวมทั้งปัญหาดื่มแล้วขับ และให้กำลังใจในการเดินหน้าสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นจริงโดยเร็ว 2.ในกรณีเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เครือข่ายขอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้การเมาแล้วขับเป็นการกระทำที่มีเจตนาเล็งเห็นผลทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มิใช่เป็นเพียงแค่ความผิดโดยประมาทและสนับสนุนให้เอาผิดกับผู้ที่นั่งมาในรถด้วยทั้งนี้ขอให้ยกเว้นรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงให้มีการเอาผิดกับร้านอาหาร ผับบาร์ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ประเภทนั่งดื่มที่ร้าน)ด้วยเพราะถือว่าเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา29มีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ3.ขอสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลจราจรเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งยากต่อการรับมือและทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ภาพรวมอุบัติเหตุจราจรทางบกสร้างความสูญเสียมากกว่า 200,000 ล้าน ต่อปี ส่งผลให้คนเสียชีวิตโดยประมาณมากกว่า 26,000 คนต่อปี และบาดเจ็บอีกจำนวนมหาศาล ทำให้ไทยติดอันดับสองของโลกที่มีอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้พบว่ามากกว่า 35-40% มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มเกิดสูงขึ้นในกลุ่มเด็ก เยาวชน ทั้งที่เยาวชนเป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ เช่นกรณีน้องอิงฟ้า ปัญหาสำคัญคือเราไม่มีมาตรการทางนโยบายใดที่เพียงพอในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีเพียงการพูดถึงเป็นครั้งคราวเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ล่าสุดรัฐบาลมีการพูดถึงแนวทางแก้ไข เครือข่ายฯจึงได้แต่หวังว่าจะมีกฎระเบียบ และมาตรการทางนโยบายที่ชัดเจนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะปัญหาการดื่มแล้วขับ และอยากวิงวอนให้ประชาชนที่พบเห็นการทำผิดกฎหมายทั้งกฎหมายจราจร และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ที่มีมาตราซึ่งระบุชัดห้ามขายให้คนเมาขาดสติด้วย รวมถึงการละเลย ไม่บังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ช่วยกันร้องเรียนและตีแผ่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำให้กลไกต่างๆทำงาน