วันที่ 17 ต.ค.65 จากกรณีที่ ม.บูรพา แจ้งข้อกล่าวหากับ ผศ.ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า อายุ 48 ปี คณบดี และ นางศญาพัฒน์ กิตติสารวัณโณ อายุ 46 ปี รักษาการหัวหน้าสำนักงานคณบดี กรณีจัดโครงการอบรมวิชาการ และมีการเบิกจ่ายเงินค่าวิทยากรไม่ชอบมาพากล และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า ไม่มีการจัดดำเนินการอบรมสัมมนาตามที่มีการกล่าวอ้าง ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการทุจริตเงินงบประมาณนั้น

ล่าสุด ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ออกแถลงการประชาคมคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ต่อกรณีดังกล่าว พร้อมแนบรายชื่อท้ายแถลงการรวม 61 ราย ซึ่งแถลงการเปิดเผยถึงความรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงวิกฤตศรัทธา จึงยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ให้ความยุติธรรมปรากฏต่อสังคม และขอแถลงการณ์แสดงเจตจำรงต่อการดำเนินการในกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.ประชาคมขอสนับสนุนให้การดำเนินการโดยใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อข้อกล่าวหาการทุจริตในโครงการบริการวิชาการดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยเน้นประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

2.ประชาคมขอเรียกร้องให้คณบดีและผู้รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดี แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม รวมถึงรักษาไว้ซึ่งเกียรติของคณะ โดยการยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความโปร่งใสและป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับพยานบุคคล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมส่วนรวม กรณีคณบดีและผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดีไม่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้สภามหาวิทยาลัย หรืออธิการบดีสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะปรากฏ

แม้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 จะบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ซึ่งรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ว่าเป็นหนึ่งในสิทธิของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนงานของหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ จะต้องมีความประพฤติที่อยู่ในกรอบของวินัยและจรรยาวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมและควรแก่ความไว้วางใจของสาธารณชนด้วย

3.ประชาคมขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยการรับฟังเสียงของประชาคมที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคลากร นิสิต ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และผู้ใช้บัณฑิตของคณะ

ประชาคมยังยืนยันในความมั่นคงทางการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล อีกทั้งระบบและกลไกในการศึกษาของนิสิตที่ยังคงดำเนินการได้อย่างปกติ มีระดับเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่างๆ ยังอยู่ในระดับที่ได้รับความเชื่อมั่นเช่นเดิม

ประชาคมขอแถลงว่าเรายังคงยึดมั่นต่อภารกิจที่มีต่อประเทศชาติ คือการเน้นผลิตบัณฑิตรับใช้สังคมไทยด้วยคุณภาพทางวิชาการและจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นบททดสอบธรรมาภิบาลที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยจะก้าวผ่านไปให้ได้ในเร็ววัน