ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) - ธกส.เกี่ยวข้องกับโครงการประชารัฐอย่างไร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นการพัฒนาชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และความยั่งยืนของภาคการเกษตรของไทย โดยธนาคารได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน ภายใต้การมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งแนวทางในการดำเนินงานนี้ สอดคล้องกับคำว่า “ประชารัฐ” อันหมายถึงการที่ ประชาชน เอกชน และรัฐบาล ร่วมมือกัน ความมุ่งมั่นของ ธ.ก.ส. ในการที่จะบรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนสามารถบรรลุตามเจตนารมย์และวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ธ.ก.ส. ซึ่งนอกเหนือจากบทบาททางด้านสถาบันทางการเงิน ที่ให้การบริการด้านการเงินอย่างครบวงจรแล้ว ธ.ก.ส. ยังมีอีกบทบาทหนึ่ง ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งภายใต้แนวคิด เป็นธรรม (Fair) เกื้อกูล (Care) และแบ่งปัน (Share) ให้เกิดขึ้นทั้งจากในองค์กรจนถึงเกษตรกร รวมถึงภาคีต่างๆที่เข้ามามีบทบาทและให้ความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาชุมชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจประชาชนในระดับฐานราก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ -ได้ดำเนินโครงการใดบ้างที่เกี่ยวกับโครงการประชารัฐบ้าง การดำเนินงานเกี่ยวกับประชารัฐของ ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเน้นการนำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ในปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้บริหารจัดการให้เกิดชุมชนต้นแบบจำนวน 8,000 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งชุมชนเหล่านี้เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเมื่อชุมชนต้นแบบเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ธ.ก.ส. ได้คัดเลือกและสนับสนุนให้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้มีศูนย์เรียนรู้จำนวน 84 ศูนย์ ที่ใช้เป็นที่เรียนรู้ของประชาชนทั่วไปและชุมชนต้นแบบจากพื้นที่อื่นๆ รวมทั้ง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อการขยายโอกาส สร้างรายได้และลดต้นทุน เป้นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากต่อไป กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์การระยะ 5 ปี (ปี 2557-2561) โดยยุทธศาสตร์ที่มารองรับอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรรองรับ AEC ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยเน้นในผลิตผลต่างๆ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย โคเนื้อ กาแฟ โดยใช้กระบวนการสหกรณ์เป็นกลไกหลัก โครงการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 แบ่งออกเป็น 4 กลยุทธ์คือ 1.กลยุทธ์บูรณาการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทานและการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain financing and Supply Chain Management โดยการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าตลอดต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โครงการหลักประกอบด้วยการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้า เช่น โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย การดำเนินงานตามโครงการ ธ.ก.ส. ได้ใช้สินเชื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการยกระดับเป็น SMEเกษตร สำหรับเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการ ส่งผลให้เกิดการสร้างงานและจ้างแรงงานในภาคชนบทเพิ่มขึ้น 2.กลยุทธ์พัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรเพื่อการแข่งขัน โดยเน้นชุมชนต้นแบบและพัฒนาลูกค้าให้เป็น Smart Farmer หรือ ผู้ประกอบการ 3.กลยุทธ์สนับสนุนการพัฒนากระบวนการรวบรวมและแปรรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมผลผลิต 9 ประเภท เป้าหมายของการรวบรวมคือในปี 2557 ตั้งเป้าหมายไว้ ร้อยละ 10 ของผลผลิตที่เกษตรกรทั้งประเทศสามารถผลิตได้ (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เช่น ข้าวหอมมะลิ ประเทศไทยสามารถผลิตได้ 8 ล้านตัน ดังนั้น เป้าหมายการรวบรวมข้าวเปลือกหอมมะลิคือ 800,000 ตัน ปี2558 เป้าหมายร้อยละ 15 หรือ 1.2 ล้านตัน ภายใต้กลยุทธ์นี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำ“ โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวด้วยระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร” 4.กลยุทธ์พัฒนาตลาดสินค้าเกษตร โดยการสนับสนุนให้ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สหกรณ์การเกษตร (สกก.) และเครือข่ายเป็นตลาดเกษตรกร (Farmer Market) โดยการพัฒนาช่องทางการตลาดผ่านระบบการตลาดอิเลคทรอนิคส์ (E-marketing) สนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพสูง (Premium Product) ร่วมกับภาคราชการและเอกชน ภายใต้กลยุทธ์นี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน ขึ้น (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 2) 5.กลยุทธ์เสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ โดยพัฒนาขบวนการสหกรณ์ให้เข้มแข็ง กิจกรรมด้านสังคมธ.ก.ส. กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์การระยะ 5 ปี (ปี 2557-2561) โดย ยุทธศาสตร์ที่มารองรับอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 สนับสนุนการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคชนบท โครงการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 แบ่งออกเป็น 2 กลยุทธ์คือ 1.กลยุทธ์สานต่อความพอเพียงเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคชนบท ธ.ก.ส. ได้พัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสนับสนุนให้รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อการขยายโอกาส สร้างรายได้และลดต้นทุน เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากต่อไป การดำเนินงาน ธ.ก.ส. ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น เป็นหลักในการพัฒนา ดังนี้ ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนในชุมชนให้เกิดจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเอง ขั้นที่ 2 การพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อพึ่งพากัน ขั้นที่ 3 การพัฒนาให้เกิดเป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจชุมชน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังจัดทำ โครงการธนาคารความดี และโครงการโรงเรียนธนาคาร ที่ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้การออมการบริหารเงินอย่างถูกต้อง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ เป็นกำลังที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการด้วยตนเองและสนับสนุนให้เกษตรกรช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2557 ธ.ก.ส. ได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญ ในการยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้วยตัวเองของ ธ.ก.ส. โดยธนาคารได้สร้างให้องค์การเป็นองค์การสีเขียว (Green Bank) ทำการประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนากระบวนการทำงานและผลิตภัณฑ์บริการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างจิตสำนึกพนักงานในการมีส่วนร่วม จิตอาสา และสำนึกรักษ์โลก การดำเนินงานร่วมกับเกษตรกรและเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักษ์ดิน รักษ์อากาศ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังจัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ และโครงการเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างกลไกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกแนวทางหนึ่ง -มองทิศทางการบริการจัดการเศรษฐกิจและดูแลประชาชน โดยเฉพาะในระดับฐานรากและผู้มีรายได้น้อยหรือผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเป็นอย่างไร ภายใต้แนวคิดประชารัฐซึ่ง ธ.ก.ส เข้าไปมีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และโครงการที่ ธ.ก.ส กำหนดจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยที่หากชุมชนมีความเข้มแข็ง การขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้คนในชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งการดำเนินงานด้าน SME เกษตร จะทำให้เกิดการสร้างงานในชนบท มีการเพิ่มมูลค่าโดยอาศัยนวัตกรรมท้องถิ่น คนจะไม่ทิ้งถิ่นฐาน สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและดูแลผู้สูงวัย รวมถึงเยาวชนที่ต้องการการฟูมฟักได้อย่างทั่วถึง