ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : กรมศิลปากรเผยข้อความในจารจารึกลานเงินวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

จากกรณีที่เจดีย์วัดศรีสุพรรณได้พังทลายลงมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เร่งไปตรวจสอบการพังทลายของเจดีย์ดังกล่าว โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กรมศิลปากรได้รายงานการตรวจสอบเบื้องต้น (30 ก.ย. 65) พบความเสียหายของเจดีย์องค์นอก ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ สร้างครอบทับเจดีย์องค์เก่าซึ่งเป็นเจดีย์แบบล้านนา มีสถานะเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ผลของความเสียหายครั้งนี้ กระทบถึงเจดีย์ภายในที่เป็นโบราณสถานด้วย อีกทั้งยังทำให้พบโบราณสถานวัตถุ อาทิ พระธาตุสมมติพระพุทธรูป ที่บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์

ทั้งเผยให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้าง​ว่ามีโครงสร้าง​มากกว่า​ 1  สมัยอย่างชัดเจน​ โดยแกนกลางชั้นในสุดเป็นอิฐ​ขนาดที่นิยมสร้างศาสนสถาน​สมัยล้านนา​ สอด้วยดิน​ ส่วนชั้นที่ก่อเสริมด้านนอกภายหลัง​ อิฐจะมีขนาดค่อนข้าง​เล็ก​ลงและสอด้วยปูน​ สอดคล้องกับความทรงจำของคนในพื้นที่​ ที่ระบุว่าเดิมมีเจดีย์​องค์​เก่าตั้งอยู่​ ต่อมามีการบูรณะก่อเสริมมาเรื่อยๆ​ การบูรณะครั้งสำคัญ​คือช่วงราว​ พ.ศ.​ 2518 ซึ่งแสดงถึงวัตถุร่วมสมัยล้านนาและร่วมสมัยปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด​

“ทั้งนี้ กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้าไปดำเนินการเร่งด่วนในวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจจัดทำบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุที่พบ และมอบให้ทางวัดเก็บรักษาเพื่อป้องกันการสูญหาย รวมถึงทำการสำรวจรูปทรงของเจดีย์องค์ในที่เป็นโบราณสถาน เพื่อหาแนวทางดำเนินการบูรณะ สำหรับเจดีย์องค์นอกจะได้หารือ และให้คำแนะนำกับทางวัดศรีสุพรรณเพื่อบูรณะให้มีรูปทรงที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาต่อไป โดยได้มอบหมายให้กรมศิลปากรรีบดำเนินการบูรณะอย่างเร่งด่วน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ” นายอิทธิพล รมว.วัฒนธรรม กล่าว (30 ก.ย. 65)

ล่าสุด (17 ต.ค. 65) นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร เผยข้อความในจารึกลานเงินวัดศรีสุพรรณว่า หลังจากเจดีย์วัดศรีสุพรรณพังทลายลงเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เจดีย์จำลองสำริด ภายในบรรจุพระธาตุ พระพุทธรูปหินควอตซ์ และหลักฐานสำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่งคือ จารึกลานเงิน จำนวน 1 ลาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณของกรมศิลปากรได้อ่านและวิเคราะห์อักขรวิธี พบว่าเป็นจารึกลานเงิน ภาษาบาลี ที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนาทั้งสองด้านของลานเงิน ด้านที่หนึ่ง จำนวน 6 บรรทัด และด้านที่สอง จำนวน 7 บรรทัด ตัวอักษรกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21

เมื่อพิจารณาร่วมกับจารึกวัดศรีสุพรรณที่จารึก เมื่อ พ.ศ. 2052 ในรัชสมัยพระเมืองแก้วที่มีข้อความระบุปีที่สร้างพระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2048 จึงอนุมานได้ว่าจารึกลานเงินนี้น่าจะจารขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2048 หรือราว 517 ปีมาแล้ว เนื้อหาของจารึก กล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นหลักธรรม ที่กล่าวถึงเหตุและผลของชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกันไปไม่ขาดสาย เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นสืบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ จารึกด้านที่สองส่วนท้ายกล่าวถึง พุทธอุทานคาถา ที่เป็นปฐมพุทธอุทาน อันเกิดจากความเข้าใจอย่าง ถ่องแท้ในปฏิจจสมุปบาท การจารึกหลักธรรมดังกล่าวไว้ในพระเจดีย์จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวพุทธให้คงอยู่สืบไป