“สภากห.”เห็นชอบลด“นายพลตบยุง” รีดไขมันตามแผนปฏิรูปฯ ลดลงปีละ 2.5 % ตั้งเป้า 2571ลดได้ครึ่งหนึ่ง แต่ใช้เวลานานถึง 2 ทศวรรษตามห้วงยุทธศาสตร์ สอดคล้องลดนร.นายร้อย เผยยอด “ผู้ทรงฯ-นปก.”กว่า 2 พันนาย / “บิ๊กป้อม”ให้ผบ.เหล่าทัพ เตรียมข้อมูลก่อนนัดประชุม กก.ปรับย้ายฯเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 12.00 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทั้งหมด 768 คน และจะลดลงในปี2571 เหลือ 384 คน เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 คน จะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 คน โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ส่วนการลดจำนวนนายพลโดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้น ก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปี ที่ ผ่านมา กว่า 15,000 นาย พล.ต.คงชีพ กล่าวอีกว่า ยังมีการจัดทําระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหม ซึ่งเป็นระบบงานกําลังพลที่สามารถจําแนกกําลังพลตามลักษณะ งานได้อย่างเหมาะสม กล่าวคืองานใดที่เป็นภารกิจทางทหาร ทหารเป็นผู้ปฏิบัติ งานใดที่เป็นงานสนับสนุนภารกิจทางทหาร ก็มอบให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งจะส่งผลให้กําลังพลในสังกัด กระทรวงกลาโหมมีความเป็นมืออาชีพ และจะประหยัดงบประมาณในด้านกําลังพลในอนาคตได้ การดําเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทํากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม และคาดว่าจะเสนอต่อสภากลาโหมเพื่อพิจารณาภายในปีงบประมาณนี้ (ก.ย.59) นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุกําลังพลสํารองที่ผ่านการฝาก บรรจุทดแทนในอัตราทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของสัญญาที่กําหนด เพื่อให้หน่วยทหารมีอัตรากําลังพลเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ และมีการหมุนเวียนกําลังพลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กองทัพประหยัดงบประมาณด้านกําลังพล แต่ยังคงขีดความสามารถไว้เช่นเดิม อีกทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในระยะยาวได้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้วางหลักเกณฑ?คือ พ.ร.บ.กําลังพลสํารอง พ.ศ.2558 มาตรา 30 กระทรวงกลาโหมอาจ รับสมัครกําลังพลสํารองเพื่อทําหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร และกฎกระทรวง กําหนด ระยะเวลาการทําหน้าที่ เงินเดือน และค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทําหน้าที่ทหารเป็นการ ชั่วคราว พ.ศ.2553 ไว้เรียบร้อยแล้ว โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ในการประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดเรื่องปรับย้ายนายทหารประจำปี โดยคงมีการคุยกันอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้วเพราะเป็นวาระที่จะปรับย้ายอยู่พอดี โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แจ้งให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเตรียมข้อมูลมาให้พร้อม เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นวันไหน “บิ๊กป้อม” ห่วงสถานการณ์ก่อการร้าย สั่งเหล่าทัพอย่าประมาท พล.ต.คงชีพ กล่าวว่าสถานการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้งในทวีปยุโรป ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจํานวน มาก ปัญหาดังกล่าว มีผลกระทบเชื่อมโยงต่อความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งหลายประเทศได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัยและแจ้ง เตือนประชาชน ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ติดตามข่าวสารและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยให้ความสําคัญกับมาตรการด้าน การขาาว ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดกวดขันการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สําคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ตามความเหมาะสมและความจําเป็นของสถานการณ์เพื่อป้องกันมิให้การก่อเหตุร้ายเกิดขึ้น