วันที่ 26 ต.ค.2565 ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดกิจกรรม “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด” โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)  กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเร่งด่วน อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ดำเนินกิจกรรมด้านความปลอดภัยและปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา โดย ศธ.ได้มีมาตรการดูแลเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด และให้ผู้เรียนได้รับความปลอดภัยสูงสุด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและเยาวชนทุกคน เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ปกครองและสังคม 

 

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้ดำเนินงานเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเน้นแนวทางปฏิบัติภายใต้หลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ซึ่งเรามีแผนและมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยใช้หลักการทำให้ผู้เรียนมีความเข้มแข็ง จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล พิจารณาผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งอาจมีความจำเป็นในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน และการติดตาม เฝ้าระวัง รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัย และผลกระทบของยาเสพติด โดยให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

 

“ วันนี้เราจำเป็นต้องสร้างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการร่วมมือกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนทุกหน่วยงานในชุมชน สังคมของเราในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง เป็นเครือข่ายที่จะป้องกันภัยจากปัญหายาเสพติด การจัดกิจกรรม ‘White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด’เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ นักศึกษา กศน. และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ร่วมกันแสดงพลังและสร้างความมั่นใจในการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อให้สถานศึกษา กศน. เป็นแหล่งปลอดสารเสพติดและนักศึกษา กศน. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด เน้นในเรื่องของการประสานงานในครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เครือข่ายผู้ปกครอง สถานีตำรวจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นำไปสู่การขยายผลและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป ” นางสาวตรีนุช กล่าว.