เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติ มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เหตุผลของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญา บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิด ทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษและได้รับ การปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้าง​ แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ ส่วนหนึ่ง ยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะ ที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิเช่นหมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรา 22 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีค้าพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามที่พนักงานอัยการร้องขอโดยกำหนดมาตรการเดียวหรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่

(1) ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด
(2) ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
(3) ห้ามเข้าเขตกำหนด
(4) ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
(5) ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย
(6) ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด
(7) ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร
(8) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด
(9) ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด

(9) ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด
(10) ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด
ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
(11) ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
(12) ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน
(13) ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง