องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.50 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จากนั้นเดินทางไปยังโครงการธนาคารฟืนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับฟังบรรยายสรุปฐานการเรียนรู้ด้านป่าไม้ และเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน อาทิ กิจกรรมเพาะชำกล้าไม้ ได้แก่ ไม้ใช้สอย ไม้มีค่า กิจกรรมธนาคารฟืน ได้แก่ ฟืนอัดแท่ง น้ำส้มควันไม้ และกิจกรรมป้องกันไฟป่า ได้แก่ การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า

โครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์บริการและพัฒนา 1 แห่ง ในจำนวน 4  แห่ง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นในปี 2522 ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปายตอนล่าง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปาย ประชาชนในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ ไทยใหญ่ และกะเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป โดยศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ ลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรและการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินงานในลักษณะบูรณาการโดยมีศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ เป็นศูนย์กลางในการประสานการดำเนินงานต่าง ๆ สำหรับผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างครบวงจร ประกอบด้วย 1) ด้านดินและปุ๋ย สาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน การปลูกพืชปลอดภัย พืชอินทรีย์ 2) ด้านการจัดการน้ำ เป็นการเชื่อมโยงน้ำกับการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ จากอ่างเก็บน้ำในบริเวณศูนย์ฯ จำนวน 4 อ่าง ได้แก่ อ่างจองจาย อ่างอัสดง อ่างสาย และอ่างใกล้รุ่ง 3) ด้านป่าไม้ เพาะชำกล้าไม้ทั่วไป กล้าไม้มีค่า บำรุงป่าไม้ใช้สอย ปลูกแฝกสร้างความชุ่มชื้น ส่งเสริมการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อลดปริมาณการใช้ไม้ 4) ด้านไฟป่า จัดทำแนวกันไฟป่า มีการจัดการเชื้อเพลิงโดยการสร้างคอกปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้ง ลาดตระเวนตรวจหาไฟและดับไฟป่า รวมถึงสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นภายในพื้นที่ 5) ด้านพืช จัดทำแปลงต้นแบบ ผลิตและกระจายพันธุ์พืชเพื่อขยายผลในพื้นที่เกษตรกร 6) ด้านข้าว จัดทำแปลงเรียนรู้ด้านข้าว แสดงพันธุ์ข้าวธัญพืชเมืองหนาว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ดีแก่เกษตรกรและขยายผลสู่ชุมชน 7) ด้านประมง แสดงพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่น การเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงปลาในบ่อดินให้แก่ประชาชน 13 หมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรได้มีแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำไว้บริโภคในครัวเรือนและประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ 8) ด้านปศุสัตว์ พัฒนาปรับปรุงและผลิตพันธุ์แกะ สุกร ไก่ สาธิตและขยายพันธุ์สู่เกษตรกร และ 9) ด้านการจัดการฟาร์ม สาธิตการผลิตเมล่อน ผักไฮโดรโปนิกส์ ส่งเสริมและพัฒนาเป็นเกษตรกรต้นแบบ

ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานทั้ง 9 ฐานการเรียนรู้ ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดิน ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงาน และได้พัฒนาส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบ นอกจากนี้ มีหน่วยงานร่วมบูรณาการส่งเสริม ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านบัญชีและสหกรณ์ ด้านงานโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น (งานสิ่งก่อสร้าง งานไฟฟ้า) เพื่อพัฒนาต่อยอดและขยายผลสู่เกษตรกรในทุกมิติอีกด้วย

สำนักงาน กปร. กองประชาสัมพันธ์