ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ทุนสนับสนุนการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย “ลดอคติ ส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม” หนุนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและการสร้างอคติทางสังคม

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมแห่งความเสมอภาคที่เน้นการวางรากฐานทางความคิดให้สังคมไทยเห็นคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานของการลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ได้เล็งเห็นว่าสถานการณ์โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย ฐานะทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง วิถีชีวิตและแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งสังคมไทยในฐานะเป็นสังคมเปิดและมีคนต่างกลุ่มเข้ามาอยู่อาศัย ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างหลากหลายในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกัน การกระทบกระทั่งและความเห็นที่ไม่ลงรอยกันยิ่งสร้างความแตกแยกและความบาดหมางได้ง่ายมากขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ที่จะไม่นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามและการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันคือการเคารพและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอคติและการแบ่งแยกกีดกันทางสังคมในปัจจุบันเป้นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติยังคงมองข้ามความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเชื้อชาตินิยม ลัทธิชาตินิยม บริโภคนิยม ระบบทุนนิยม และบรรทัดฐานแบบชายเป็นใหญ่ ส่งผลต่อการวางกรอบนโยบายและแนวทางพัฒนาสังคมในหลายมิติ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอคติและความไม่เท่าเทียมทางสังคม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากนโยบาย กฎระเบียบ กฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อบังคับและบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ความลำเอียง การให้สิทธิพิเศษ และการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการตรวจสอบการทำงานและวิธีปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการสังคม จำเป็นต้องชี้ให้เห็นรากเหง้าความคิด มายาคติ และการกระบวนทัศน์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดเหล่านั้นที่ทำให้เกิดการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของผู้คน

ศมส. จึงเชิญชวนให้นักวิชาการและผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลอดคติ การส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อสร้างการตระหนักรู้และผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปใช้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและการสร้างอคติทางสังคม

เนื้อหาของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ใน 8 ประเด็นต่อไปนี้

การลดอคติต่อเชื้อชาติ / ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ

การลดอคติและการกลั่นแกล้งรังแกในสถาบันการศึกษา

การลดอคติต่ออาชีพและชนชั้นทางสังคม

การลดอคติต่อความเชื่อทางศาสนา

การลดอคติต่อความคิดที่แตกต่างทางการเมือง

การลดอคติต่อผู้ป่วย คนพิการ และผู้ทุพพลภาพ

การลดอคติต่อคนที่มีความแตกต่างของวัยและอายุ

การลดอคติต่อความหลากหลายทางเพศ

โดย ศมส.จะสนับสนุนทุนในการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย จำนวนทุน 20 ทุน ทุนละ 10,000 บาท ซึ่งผู้สมัครรับทุนต้องเขียนโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายตามแบบฟอร์มที่กำหนด ดาวน์โหลดได้ที่ www.sac.or.th หน้าข่าวสารกิจกรรม (ข่าวประชาสัมพันธ์) และส่งแบบฟอร์มดังกล่าวในรูปแบบไฟล์ Microsoft word มายังอีเมล์ [email protected] ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุน วันที่ 2 มกราคม 2566 ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th หน้าข่าวสารกิจกรรม (ข่าวประชาสัมพันธ์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3807 หรือ https://www.sac.or.th/portal/th/news/detail/166