“คลองลัดโพธิ์” การพัฒนาธรรมชาติประยุกต์ ทางลัดระบายน้ำออกทะเล จาก 18 กม. เหลือ 600 เมตร

คลองลัดโพธิ์เป็นชื่อคลองเดิมบริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีสภาพตื้นเขิน ต่อมาได้มีการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการภายใต้หลักการ "เบี่ยงน้ำ" รูปแบบการพัฒนาธรรมชาติประยุกต์ โดยมี 3 หน่วยงานร่วมกันกำกับดูแล คือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

หลักการทำงานของคลองลัดโพธิ์ คือ ใช้การพัฒนาธรรมชาติประยุกต์กับแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมซึ่งมีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวรอบพื้นที่บางกะเจ้าด้วยความยาว 18 กิโลเมตรนั้น ทำให้การระบายน้ำพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 “ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน จังหวัดสมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการ และดำเนินการปรับปรุง ขุดลอกพร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ได้มีพระราชดำริ “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้น เพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา”

นายไพศาล เติมวรรธนภัทร์ กำนันตำบลทรงคนอง จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาราษฎรมีความเดือดร้อนเพราะเป็นพื้นที่ต่ำ ฤดูฝนจะรับน้ำเหนือที่ปล่อยมาพร้อมมีน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ และน้ำทะเลหนุน เป็นอย่างนี้มาร่วม 40 ปี ทำการเกษตรไม่ประสบความสำเร็จ การเดินทางลำบาก ช่วงน้ำท่วมมีผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดเป็นประจำทุกปี “เป็นความทุกข์ที่พวกเราไม่สามารถจะแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ จนมีโครงการสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ขณะก่อสร้างไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์อะไรมากมาย แต่หลังจากแล้วเสร็จความทุกข์ความลำบากก็หายไปจากพื้นที่ตำบลทรงคนองและข้างเคียงอีก 5 ตำบล  ทั้งตลาดพระประแดงและรวมถึงกรุงเทพมหานคร  กว่า 15 ปีแล้วที่คลองลัดโพธิ์ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมน้ำหนุนและน้ำเค็มที่รุกเข้ามาแล้วก็ยังสร้างความสุข 3 สุขให้ราษฎร  คือ สุขจากการมีที่อยู่อาศัยที่ดี สุขจากการมีอาชีพที่มั่นคงมีอาหารที่ดี และสุขจากการมีสิ่งแวดล้อมมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ระบบนิเวศที่ดี เป็นความสุขที่ไม่สามารถนับเป็นมูลค่าได้ พวกเราชาวคุ้มบางกะเจ้าและพื้นที่ข้างเคียงต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

ด้าน นายภูมิวิทย์ นารถสกุล นายช่างชลประทานอาวุโส เผยถึงการบริหารจัดการน้ำของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯว่า เมื่อมีการระบายน้ำจากสถานีวัดน้ำบางไทรเกิน 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะเปิดระบายน้ำในช่วงจังหวะน้ำทะเลลง ผ่านประตูคลองลัดโพธิ์ ซึ่งร่นเวลาตามเส้นทางน้ำจาก 18 กิโลเมตรตามแม่น้ำเจ้าพระยาเหลือ 600 เมตรตามคลองลัดโพธิ์ จากใช้เวลา 5 ชั่วโมงเหลือแค่ 10 นาที “นับเป็นพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้พระราชทานแก่คนไทย ช่วยให้ชุมชนพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างลงมาลดปัญหาน้ำท่วมขังกว่าแสนไร่”

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการฯ กปร. และคณะ เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ  เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และการบริหารจัดการน้ำของโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยฯ จังหวัดสมุทรสาคร และโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิฯ จังหวัดสมุทรปราการ (สถานีสูบน้ำข้ามถนนสุขุมวิท)

การนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ได้ระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมทั้งน้ำที่ลงมาจากทางเหนือและน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมา “ผมและพลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง และคณะจากกรมชลประทาน กปร. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มาเยี่ยมและติดตามสถานการณ์ของน้ำที่คลองลัดโพธิ์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานมาหลายปีแล้ว  ณ ปัจจุบันยังสามารถระบายน้ำในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการได้เป็นผลดี ตรงนี้เราสามารถที่จะลดการเคลื่อนย้ายน้ำที่ควรจะไหลไปตามแม่น้ำ 18 กิโลเมตรลงมาเหลือเพียงแค่ 600 เมตร แล้วก็มีอีกหลายโครงการฯ ที่ทางกรมชลประทานได้ดำเนินการ เช่น การกระจายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปทางทิศตะวันตกกรุงเทพมหานครไปลงแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีประตูน้ำอีกประมาณ 10 บาน ที่จะบริหารจัดการน้ำไปลงแม่น้ำแม่กลองเพื่อออกสู่ทะเลอีกทางหนึ่งโดยไม่ให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่ ในช่วงนี้มวลน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของภาคกลางคือ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำช่วงผ่านประตูระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยากำลังลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาต่ำกว่า 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  และเท่าที่กรมชลประทานได้ชี้แจงพบว่าโอกาสที่น้ำจะท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครคงจะไม่มี จะสามารถกระจายน้ำออกไปได้มากกว่าที่ผ่าน ๆ มาเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ เช่นปี 2562 และปี 2564 ปีนี้ปริมาณน้ำถือว่ามีน้อยกว่ามาก ”

นอกจากนี้ในปี 2550 กรมชลประทานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และในปี 2551 จึงเริ่มทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ ต่อมาในปี 2553 สำนักงาน กปร. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธย ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ในปี 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามสิ่งประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ดังกล่าวว่า “อุทกพลวัต” มีความหมาย คือ อุทก (น้ำ) + พลวัต (เคลื่อนที่, เคลื่อนไปด้วยแรง) = กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล