สภามหาวิทยาลัย ถอดถอนอธิการบดี (อีกแล้ว)

ในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงตอนนี้ หันไปทางไหนก็มีแต่คนคุยกันเรื่องที่ทุกคนยังงุนงง สงสัย ไม่มีใครกระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้บริหารสูงสุดที่พวกเราไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ เราเลือกตั้งอธิการบดีมา ด้วยอยากเห็นการทำงานของท่าน ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราได้ประจักษ์ในผลงานของท่านและทีมงาน ที่ต่างแข็งขัน ช่วยกันนำพามหาวิทยาลัยไปอย่างดี แม้ว่านาวาลำนี้จะแล่นอยู่ท่ามกลางสายน้ำแห่งการศึกษาที่น้ำไม่ปริ่มฝั่งดังเดิม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นั้น เป็นดั่งสายฟ้าฟาด ที่แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่อดไม่ได้ที่จะสร้างความตระหนกให้แก่ประชาคมชาวรามคำแหง ด้วยครั้งนี้สภาฯ มีมติถอดถอนอธิการบดี 10 เสียง ไม่ถอดถอน 9 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง คำถามที่หนึ่งจึงเกิดขึ้นตามมากับตัวเลขที่เกิดขึ้น 

คำถามที่สองตามมาว่า ด้วยเหตุผลใดที่สภาฯ ยื่นเข้ามาในที่ประชุม (แม้จะไม่มีวาระการถอดถอน) เพื่อใช้ประกอบการถอดถอนอธิการบดี พวกเราได้รับทราบมาว่า มาจาก 3 ประเด็นหลัก ๆ ถูกผิดประการใดไม่ทราบได้ แต่เป็นประเด็นที่พวกเราได้รับรู้จากสื่อ โดยไม่มีการแถลงการณ์ใดใดจากสภาฯ กับประชาคมชาวรามคำแหง 

ประเด็นแรก คือ เรื่องรับโอนที่ดิน 2 แปลง ที่ จ.นครนายก จากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม และเงินที่ได้รับในวันสมรส กรณีนี้พวกเราได้ยินมานาน และทราบว่าได้รับการพิจารณาจาก ปปช. เป็นที่เรียบร้อย โดยอธิการบดีได้คืนที่ดิน และเงินบางส่วนให้กับแผ่นดิน ซึ่ง ปปช. เองก็จบเรื่องไปเรียบร้อย เพียงแต่สภาฯ อยากลงรายละเอียดให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อธิการบดีกลับกลายเป็นผู้ต้องคดีไปเสียเอง

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องวุฒิการศึกษา ด้วยอธิการบดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้วุฒินี้สมัครเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สภาฯ ได้ข้อมูลว่าหลักสูตรนี้ไม่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. มหาวิทยาลัยยื่นเรื่องให้ อว. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบ แต่สภาฯ เลือกใช้การรับรองจาก ก.พ. แม้ อว. จะแจ้งมาว่าอยู่ระหว่างดำเนินการในการตรวจสอบการรับรองวุฒิดังกล่าว ทั้งยังให้เหตุผลต่อว่า อว.เกิดขึ้นมาทีหลังการยื่นใช้วุฒิการศึกษานี้ของอธิการบดี จึงสร้างชุดความคิดให้กับพวกเราว่า สภาฯ มิติใหม่นี้ “เราเลือกได้”

ประเด็นที่สาม คือ เรื่องบิดเบือนข้อมูลในการยื่นถวายฎีกา เรื่องนี้ต่างคนต่างมีเส้นทางของตนเอง อธิการบดีเลือกที่จะยื่นถวายฎีกา หากไม่มีมูลใดใด เรื่องคงจบตั้งแต่ขั้นตอนแรก เมื่อมีการรับเรื่องร้องทุกข์แล้ว ขอให้สภาฯ ชี้แจง สภาฯ ก็ชี้แจงในส่วนข้อมูลของสภาฯ ไปน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่สภาฯ จะมาวินิจฉัยว่าข้อมูลนี้บิดเบือน และกล่าวหาว่า “อธิการบดีประพฤติชั่ว”

พวกเราคิดกันว่า เหตุการณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ควรจะต้องพิจารณา วาระต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางการทำงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ แต่หาได้มีวาระอื่นใดไม่ มีเพียงวาระเดียวซึ่งเป็นวาระที่ไม่ก่อให้เกิดมีผลดีกับใครทั้งสิ้น มีเพียงมหาวิทยาลัยที่บอบช้ำ เราอยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นนาวาลำหนึ่งที่ผงาดในสายธารการศึกษาอย่างสง่างาม ดังที่เคยเป็นมา ในนามรามคำแหง เวลาที่สูญเสียไปทุกวันมีค่ามากกับการพัฒนามหาวิทยาลัย เราอยากให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงก้าวต่อไปข้างหน้าให้ทันกับยุคสมัย และอยากถามทุกท่านจากใจจริงว่า “นี่คุณรักรามใช่ไหม?”