สำหรับการประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้แนะนำสถานที่ที่ใช้ในการจัดประชุมรับรองคณะทำงานเอเปคและผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022 ผ่าน 3 สถานที่ หลักที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ได้แก่ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม, กาลิเลโอเอซิส ตั้งอยู่บนถนนบรรทัดทอง โดยทั้งสองแห่งถือเป็นสถานที่จัดงานที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คน นำไปสู่การสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งด้านความปลอดภัยและการจัดงานอย่างยั่งยืน

เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า บทบาทของทีเส็บในการสนับสนุนการจัดประชุมเอเปค แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ 1. การให้องค์ความรู้ข้อมูลเรื่องการจัดงานอย่างมีมาตรฐานและเกิดความยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย (TSEMS) และมาตรฐานการจัดงานที่ปลอดภัย 2. การส่งเสริมบุคลากรที่ผ่านมาตรฐานหลักสูตรผู้ประสานงาน (Certified Liaison Program หรือ CLP) มาร่วมให้บริการกับผู้จัดงานเอเปคจากกระทรวงต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติงานในตำแหน่ง Liaison Officer หรือผู้ประสานงานการจัดประชุมนานาชาติจำนวนทั้งสิ้น 300 คน และ 3. การพัฒนาส่งเสริมชุมชนผ่านเส้นทางสายไมซ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคที่ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น โดยในทุกการประชุมเอเปคจะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อทำให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย

ด้านการส่งเสริมประชาสัมพันธ์การจัดงานเอเปค 2022 ทีเส็บได้รับการสนับสนุนและประสานงานจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดี ทั้งการจัดทำวีดิทัศน์ Thailand MICE: Meet the Magic โดยสื่อสารในสื่อต่างประเทศตั้งแต่ช่วงเมษายนที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดกิจกรรม One Day MICE Trip with TCEB: ตามรอยการประชุมเอเปค พาสื่อมวลชนไทยสัมผัสประสบการณ์ไมซ์ตามรอยคณะทำงานเอเปคด้านการท่องเที่ยว และผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว สอดคล้องแนวคิดการสื่อสาร  ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ โดยเป็นแนวทางการจัดประชุมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งรูปแบบการจัดงานและสถานที่ซึ่งแต่ละพื้นที่มีมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสร้างกระแสการรับรู้สู่สาธารณชนในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 (APEC 2022 Thailand) ของประเทศไทยอีกด้วย

ทุกสถานที่รองรับงานมากกว่าไมซ์

เริ่มต้นที่ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม หนึ่งในเส้นทางรับรองการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 60 เพื่อเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ณ ปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนของสามพรานโมเดล ซึ่งเป็นรูปแบบของธุรกิจเกื้อกูลสังคม เพื่อส่งเสริมเกษตรกรออร์แกนิกในเขตสามพราน จังหวัดนครปฐม ต้นแบบการท่องเที่ยวแบบ Organic Tourism ตามแนวคิด BCG : Bio-Circular-Green Economy

นายอรุษ นวราช ทายาทรุ่นที่ 3 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนสามพราน จำกัด ผู้บริหารโครงการสวนสามพราน กล่าวว่า เวลานี้หันมาโฟกัสในสิ่งที่ คือ การพัฒนาในเรื่องของสังคมอินทรีย์ ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร และนำวัตถุดิบด้านการเกษตรมาแปรรูป ภายใต้แบรนด์ Patom จำหน่ายทั้งช่องทางร้านค้าของตัวเองที่สวนสามพราน และสุขุมวิท 23 ช่องทางออนไลน์ และจะเพิ่มโฟกัสช่องทางที่เป็น B2B มากขึ้น

 ขณะที่ กาลิเลโอเอซิส อีกหนึ่งสถานที่จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 60 ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ขนาดเล็กในชุมชนบ้านครัว ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองบนถนนบรรทัดทอง เกิดขึ้นจากการบูรณะปรับปรุงตึกเก่าอายุกว่า 40 ปี จำนวน 20 คูหา ให้กลายเป็นร้านกาแฟ แกลเลอรี่ โรงละคร ร้านอาหาร ร้านค้าและโรงแรม ที่มีความสวยงาม สงบร่มรื่น ให้ความผ่อนคลาย เป็น Art Space ที่เปิดกว้างสำหรับงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี และการละคร อีกทั้งยังเปิดเป็นพื้นที่ในการทำงานร่วมกับชุมชนอีกด้วย

อีกทั้ง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทยกับความภาคภูมิใจของชาติ ที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งกับภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ด้วยพื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตร โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ไทย พร้อมกับการเป็นที่สุดของ อิเวนต์แพลตฟอร์ม ด้วยเป้าหมายของการเป็นมากกว่า ศูนย์การประชุม และรองรับงานมากกว่า ไมซ์ ที่พร้อมจัดงานทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัด โดยศูนย์การประชุมฯ แห่งนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ต้อนรับคณะผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565