น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ และให้ความสำคัญกับเยาวชนในการเรียนวิชาประวัติติศาสตร์เพื่อให้ตระหนักรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และความรักชาติ รวมถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเรานั้น ได้ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.พิจารณาในการแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นอีกวิชาหนึ่ง เป็นการเรียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ ไม่ใช่เรียนแบบท่องจำแบบเดิมๆ เพราะการเรียนแบบท่องจำไม่ได้ช่วยให้การเรียนรู้ในอดีตนำไปสู่การพัฒนาอนาคต และไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเรา การจะให้เด็กรุ่นใหม่มีความตื่นตัวและเข้าใจบรรพบุรุษของเราที่ได้ผ่านขบวนการต่างๆมานั้นมีขบวนการคิดและผ่านในแต่ละช่วงเวลามาได้อย่างไร 

นอกจากนี้ได้มอบให้คณะกรรมการ กพฐ.พิจารณาแนวทางการพัฒนาครูวิชาประวัติศาสตร์ โดยครูจะต้องมีวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กสนใจเรียนประวัติศาสตร์อย่างสนุกมากขึ้น โดยใช้ขบวนการเรียนแบบแอคทีฟเลินนิ่ง เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์สนุกไปกับการเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กซึมซับและเรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ของเราทำอะไรมาบ้างและจะต่อยอดการทำงานและตระหนักรู้ในความเป็นชาติของเรา ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ ดังนั้นวิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาชาติ ขบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้กับเด็กจะต้องเปลี่ยนขบวนการเรียนรู้ใหม่เช่น ทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุกและเกิดการคิดวิเคราะห์กับการเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้นและน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงมีความภูมิใจในความเป็นชาติของเรา

ทั้งนี้การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ ดังนั้นครูจะต้องปรับขบวนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจขึ้น โดยครูจะต้องใช้สื่อที่ทันสมัยและสามารถนำสื่อต่างๆมาใช้ประกอบการสอนเพื่อให้การเรียนประวัติศาสตร์น่าสนใจ รวมถึงกิจกรรมขบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะต้องนำไปสู่การพัฒนาอนาคตชาติของเรา และต่อไปต้องมีการอบรมครูวิชาประวัติศาสตร์ และต้องมีครูเอกวิชาประวัติศาสตร์สอนโดยตรง โดยจะมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาเกลี่ยอัตราครูวิชาประวัติศาสตร์ต่อไป