ในเวลานี้ประเทศไทยได้นำเสนอความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo วาระปี 2027/2028 ต่อคณะกรรมการ Bureau of International Exposition (BIE) และประเทศสมาชิก 170 ประเทศ ระหว่างการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 171 (171st BIE General Assembly) ซึ่งทีมไทยแลนด์ได้นำเสนอเนื้อหาด้วยความมั่นใจและสร้างความประทับใจให้กับคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิก BIE ได้เป็นอย่างดี โดยเน้นย้ำความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของไทยในทุกมิติ ตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นในนามรัฐบาลไทย  สร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDGs) สอดคล้องกับ BCG Model ผ่านการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand

สร้างดัชนีชี้วัดมาตรฐานคุณภาพชีวิต

โดย นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะทีมประเทศไทย ได้ให้ความมั่นใจต่อประเทศสมาชิก BIE ว่าการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาคมโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเวทีเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลง สร้างความร่วมมือระดับนโยบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เน้นจุดยืนของไทยในการสร้างการดัชนีชี้วัดมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล (Harmony Index) และขับเคลื่อนแนวความคิดการดูแลโลกอย่างยั่งยืน ผ่านแคมเปญหลัก คือ Planet Care Practice และ Nature First Mindset เพื่อนำไปสู่การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เน้นย้ำความสำคัญเรื่องการจัดงานภายใต้แนวคิด Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity ซึ่งสะท้อนนโยบายและเจตนารมณ์ของไทย โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง People Planet และ Prosperity ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Living) และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้เป็นจริงตั้งแต่คนรุ่นใหม่ไปจนถึงผู้คนในชุมชนท้องถิ่น

นำเสนอแนวคิดและเอกลักษณ์ของไทย

พร้อมกันนี้ นายยศพล บุญสม ผู้แทนกลุ่มสถาปนิกที่ออกแบบโครงการ นำเสนอแนวคิดและเอกลักษณ์ในการออกแบบพื้นที่ของงาน ภายใต้แนวคิด Flow of Nature  ซึ่งออกแบบโดยคงพื้นที่สีเขียวไว้ให้ได้มากที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายในการไปสู่การเป็น Specialised Expo ที่เป็น Carbon Neutral Pilot Project และยังถือเป็น The First Expo in the Forest ที่ออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างพื้นที่ป่า สายน้ำ และทะเล ตอกย้ำการอยู่ร่วมกันตามแนวคิดของการจัดงานที่จะเป็นชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

สามารถสร้างประโยชน์ได้ในทุกระดับ

ซึ่งขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย คือการลงคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิก BIE ทั้ง 170 ประเทศ โดยThailand Candidature Committee ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยมีหน่วยงานสำคัญ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ จังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองเจ้าภาพ กระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทนำในการรณรงค์หาเสียงในนามประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ในฐานะสมาชิกอย่างเป็นทางการของ BIE และ ทีเส็บในฐานะหน่วยงานประมูลสิทธิ์ มีมติเห็นชอบแผนงานการดำเนินการรณรงค์หาเสียงและการจัดกิจกรรมตามข้อกำหนด BIE ได้จัดทำข้อมูลประกอบการรณรงค์หาเสียงของประเทศไทย ซึ่งทุกหน่วยงานได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดในการเลือกประเทศเจ้าภาพในเดือน มิถุนายน 2566

สำหรับประเทศไทยชื่อมั่นว่าการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองที่พร้อมเป็นแบบอย่างการสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จะสร้างประโยชน์ในทุกระดับ เน้นย้ำว่าการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของไทยในครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในการจัดงานมหกรรมระดับโลก นอกจากนั้นจะเป็นโอกาสของผู้เข้าร่วมในการเชื่อมโยงกับพลวัตของภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญหากประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo ไทยจะเป็นพื้นที่ที่ให้ประเทศต่างๆ ได้นำเสนอนวัตกรรมการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน เป็นเวทีสร้างความร่วมมือและผลักดันการแบ่งปันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทุกมิติโดยเฉพาะการใช้พื้นที่หลังการจัดงาน  ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพระดับโลก ตามแผนพัฒนาเดิมของโครงการ และตามที่ ครม. อนุมัติ