ตลอดการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อยังความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่ปวงราษฎร สมดังพระปฐมบรมราชโองการ  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทำให้ทรงเห็นถึงปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎร ที่เป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทย นำมาสู่การทดลองทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อปี 2517 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับความพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้ทรงย้ำเตือนอีกครั้งในปี 2539 พร้อมกับเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นวิธีการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรมีกินมีใช้และมีรายได้จากการขายผลผลิตการเกษตรอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงนำพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย มาประยุกต์ใช้ในบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้รอดพ้นจากภัยวิกฤตเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในการพัฒนา โดยความพอเพียงมี 3 คุณลักษณะ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ประกอบกับเงื่อนไขอีก 2 ประการ คือ ความรอบรู้ในวิชาการด้านต่าง ๆ นำไปสู่การวางแผนและปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง และการมีคุณธรรมทั้งความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร และการใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นหลักในการคิดและปฏิบัติให้แก่บุคคลทั่วไปในทุกอาชีพดำรงชีวิตในทางสายกลาง นำไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืนทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยีในทุกยุคสมัย

การแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศ์ ได้พระราชทานพระราชดำริผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2495-2560 จำนวน 4,741 โครงการ/กิจกรรม (ข้อมูลจากสำนักงาน กปร. ณ เดือนกันยายน 2560) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปี 2565 นี้ มีจำนวนโครงการรวม 5,151 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 3,581 โครงการ / กิจกรรม โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 143 โครงการ / กิจกรรม  โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 231 โครงการ / กิจกรรม  โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 358 โครงการ / กิจกรรม  โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 67 โครงการ / กิจกรรม  โครงการพัฒนาด้านคมนาคมและสื่อสาร 87 โครงการ / กิจกรรม  โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา 401 โครงการ / กิจกรรม  และโครงการพัฒนาแบบบูรณาการ/อื่น ๆ 283 โครงการ / กิจกรรม (ข้อมูลจากสำนักงาน กปร. ณ เดือนกรกฎาคม 2565)

ความยากไร้ของราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือปัญหาปัจจัยการผลิตที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะปัญหาดินที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาดินในหลายรูปแบบ อาทิ การแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้พื้นที่ที่เคยเป็นป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกให้กลับมาทำการเกษตรได้ การแก้ปัญหาดินดานที่เป็นดินขาดความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นมีความแข็งเสมือนหิน โดยใช้หญ้าแฝกที่มีรากหยั่งลึกและแข็งแรงสามารถเจาะทะลุดินดานได้ โดยหญ้าแฝกสามารถอุ้มน้ำไว้ในรากจนดินในบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้นเพาะปลูกพืชได้ นอกจากนี้หญ้าแฝกยังสามารถยึดดินที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงไว้ได้ จึงนำมาปลูกบริเวณริมตลิ่งหรือที่ลาดชันเพื่อยึดดินไม่ให้พังทลายป้องกันปัญหาดินถล่ม นอกจากนี้ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริห่มดิน โดยใช้เศษพืชทั้งใบไม้และกิ่งไม้ให้ปกคลุมดินไว้ ช่วยชะลอการระเหยของน้ำบริเวณหน้าดิน และดินที่ปกคลุมนั้นจะเกิดสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ มาย่อยสลายซากใบไม้กิ่งไม้เหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน

พระปรีชาญาณในการแก้ปัญหาดิน ได้ถูกนำไปเผยแพร่สู่สากล กระทั่งสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) นำโดยอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลกเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555 และกำหนดวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)

นอกจากนี้องค์กรนานาชาติยังได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมายทุกสาขาวิชาการ อาทิ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา" (Global Leaders Award) เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงมีบทบาทและผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น และพระองค์ทรงเป็นผู้นำโลกคนแรกที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลดังกล่าว ขณะที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม่เพียงแต่เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักและเคารพของปวงชนชาวไทย ยังทรงเป็นที่รักและเคารพของมวลชนทั่วโลก เพราะทรงทุ่มเทพระวรกายในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา พระเสโทรินไหลชุ่มพระพักตร์และพระวรกายประดุจน้ำทิพย์ชโลมแผ่นดินไทย แม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกรสมดังสมญานาม “สมเด็จพระภัทรมหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง

สำนักงานกปร.