ละโว้ หรือ ลพบุรี เป็นเมืองโบราณ ปรากฏหลักฐานว่ามีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบศิลปะทวารวดีมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 กระจายอยู่ทั่วไป ทั้ง พระพุทธรูป พระเครื่อง จารึกภาษาสันสกฤตและภาษามอญ ก่อนศิลปะขอมเมืองพระนคร (Angkorian period) จะเข้ามาปะปน จะเห็นได้ชัดเจนจาก ‘เทวสถานปรางค์แขก’ มีการค้นพบจารึกภาษาขอมที่ศาลสูง หรือ ‘ศาลพระกาฬ’ เอ่ยพระนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศักราช 1565 ต่อมามีการสร้าง ‘ปรางค์สามยอด’ อันกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองลพบุรี ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724) ระยะนี้ลพบุรีมีอิทธิพลของพุทธแบบมหายานในระดับสูง ซึ่งเรื่องราวของมหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ ก็หลั่งไหลเข้ามาก่อเกิด เป็นตำนานเสมือนจริงของ “เทพหนุมาน” ขึ้น เมื่อมีการสร้างศาลสูง โดยใช้ศิลาแลงและอัญเชิญ ‘รูปสลักหินองค์พระนารายณ์’ ขึ้นสถิตสถานเป็นหลักชัยของเมือง ตามเรื่องราวในรามเกียรติ์ ผู้คนทั้งไกลใกล้ต่างประจักษ์ในฤทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ พากันเรียกขานกันว่า “ศาลพระกาฬ” พระปรางค์สามยอด เจ้าพ่อศาลพระกาฬ ศาลพระกาฬ บริเวณที่ตั้งของศาลสูงหรือศาลพระกาฬนั้น เดิมเป็นป่าเบญจพรรณมีส้มสูกลูกไม้ โดยเฉพาะมะขาม ขึ้นอยู่ร่มรื่น รอบอาณาบริเวณมีฝูงลิงอพยพมาอยู่อาศัยแต่เก่าก่อน มิได้มีความดุร้าย ผู้คนพากันเรียกว่า ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อศาลพระกาฬ’ แม้เมื่อเมืองจะเจริญขึ้น ฝูงลิงเหล่านั้นก็มิได้โยกย้ายหลบหนี หากแต่อยู่ในตัวเมืองโดยมี ‘ศาลพระกาฬ’ เป็นศูนย์กลางเรื่อยมา ฝูงลิงเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสเรื่องราวของ “หนุมาน” อันเป็นทหารเอกของ “พระราม” ตามวรรณคดีรามเกียรติ ที่มีพลทหารเป็นวานรช่วยพระรามจนเสร็จศึกทศกัณฐ์ พระรามได้ยกเมืองลพบุรีให้แก่หนุมานเป็นบำเหน็จรางวัล และมอบหน้าที่ให้เป็นผู้คอยตอกศรที่พระรามยิงตรึงท้าวกกขนาก ยักษ์เพื่อนทศกัณฐ์ไว้ ณ เขา วงพระจันทร์ เมื่อใดที่ศรเขยื้อนจะมีไก่ร้องบอกให้หนุมานเหาะมาตอกศร เกิดเป็นไฟลุกเผาเขาต่างๆ เช่น เขาทับควาย ดินกลายเป็นสีแดง ต่อมามีผู้มาถลุงเหล็กเป็นอาชีพ ไฟบางส่วนก็ลามมายังพื้นดิน ก่อเกิดเป็น ‘ดินขาว’ หรือ ‘ดินสอพอง’ อันเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองลพบุรี เรียกว่า “หนุมาน” ผูกพันกับเมืองลพบุรี จนกลายเป็นเอกลักษณ์ แม้ในเทศกาลท่องเที่ยวก็มีการจัด ‘งานโต๊ะจีนลิง’ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นารายณ์ราชนิเวศน์ เจ้าพ่อศาลพระกาฬ เมืองลพบุรีผ่านวันเวลาแห่งอดีตกาล มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2199-2231) มีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามาปะปนในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนของหวาน เช่น มีการสร้าง ‘นารายณ์ราชนิเวศน์’ เป็นพระราชวังสำหรับทรงประทับอีกแห่งหนึ่ง โดยมีงานสถาปัตยกรรมทั้งของไทย เปอร์เซีย และฝรั่งเศส ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีการสร้างหอดูดาวแสดงให้เห็นความเจริญทางด้านดาราศาสตร์ ที่วัดเซนต์ปอล ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘วัดสันเปาโล’ ตลอดจนการหล่อท่อประปา และนำระบบประปาแบบอย่างตะวันตกเข้ามาใช้ในตัวเมือง เป็นต้น บางครั้งเมืองลพบุรีก็โรยราห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ‘นารายณ์ราชนิเวศน์’ และสร้างวัดขวิด ซึ่งปัจจุบันเรียก ‘วัดกวิศราราม’ ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นความสำคัญของเมืองลพบุรี ว่ามียุทธศาสตร์ดีเลิศ จึงปรับปรุงพัฒนาให้ลพบุรีเป็นเมืองทหาร จนเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย "เทพหนุมาน" ก็ยังฝังอยู่ในมโนคติของผู้คนทั้งในและนอกจังหวัดลพบุรี ด้วยความมีฤทธานุภาพเก่งกล้าสามารถจากเรื่องรามเกียรติ์ ‘หนุมาน’ ถูกนำไปผูกพันกับเกล็ดตำนานต่างๆ ในท้องถิ่นของลพบุรี ซึ่งในรามเกียรติก็ได้กล่าวถึงหนุมานโดยสรุปได้ว่า ‘หนุ’ แปลว่า คาง ‘มาน’ แปลว่า เบือนหรือบิด ‘หนุมาน’ จึงแปลได้ว่า ผู้มีคางเบือน เนื่องจากตอนเล็กซนมาก ขึ้นไปแสดงอิทธิฤทธิ์บนสวรรค์จนพระอิศวรต้องขว้างจักรเข้าขวาง โดนคางยุบไปหน่อย จึงได้ชื่อดังกล่าว นอกจากจะมีกายเผือกขาวแล้ว หนุมานยังมีฤทธานุภาพในอันที่จะจัดการเสี้ยนศึกศัตรู เวลาหาวเป็นดาวเป็นเดือน สามารถแก้ไขอุปสรรค กำจัดศัตรูให้แคล้วคลาด และเนื่องจากความเชื่อผูกพันอยู่กับ “เจ้าพ่อศาลพระกาฬ” หนุมานจึงยิ่งมีฤทธิเดชในฐานะศิษย์เอกเจ้าพ่อฯ ยิ่งใหญ่ขึ้น และมีความเชื่อว่า ผู้ใดมี ‘หนุมาน’ อยู่เคียงกาย ก็จะช่วยเหลือกำจัดอุปสรรคนานัปการให้หมดไป เช่นเดียวกับที่ช่วยพระรามปราบทศกัณฐ์ อธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมความปรารถนา หนุมาน เทพหนุมานทรงฤทธิ์ ด้านหน้า เทพหนุมานทรงฤทธิ์ ด้านหลัง นับได้ว่า ลพบุรีเป็นเมืองสำคัญมาหลายยุคหลายสมัย ถึงพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น เป็นศูนย์กลางการคมนาคม มีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน สามารถควบคุมเส้นทางน้ำจากดินแดนตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก เป็นศูนย์กลางติดต่อกับเมืองท่าค้าขาย นับเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อและศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ทางสมาคมผู้สื่อข่าวทีวีและสื่อมวลชนลพบุรี และ หจก.ศิลปพระเครื่อง ได้เล็งเห็นศักยภาพอันโดดเด่น จึงต้องการเผยแพร่เกียรติคุณของเมืองลพบุรี และเรื่องราวในอดีตที่ถ่ายทอดผ่านวรรณคดีและตำนานพื้นเมืองในเรื่องราวของหนุมาน เพื่อขจรขจายชื่อเสียงของจังหวัดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งในปีนี้เป็นปีนักษัตร “วอก” อันหมายถึง วานร ทางคณะจึงประสงค์จะสร้างวัตถุมงคล "เทพหนุมานทรงฤทธิ์" เต็มรูปแบบ คือ มี 8 กร ถือเครื่องสูงและศาตราวุธอันทรงคุณวิเศษ โดยขอพรจากองค์พระนารายณ์ เจ้าพ่อศาลพระกาฬ อันเป็นที่เคารพสักการะของทุกผู้ทุกนาม ให้เกิดเดชะอำนาจช่วยขจัดอุปสรรค เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ร่วมบุญบูชา และได้นํามวลสารศักดิ์สิทธิ์ในการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนี้จาก 8 วัด 8 พิธีมหาพุทธาภิเษก ที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางฟ้า - ดิน เช่น วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี, วัดอินทรวิหาร กทม., วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา, อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี, วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี, วัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี และ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย โดยจะมีพิธีเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางฟ้า-ดิน ณ ศาลพระกาฬ ตลอดจนสถานที่ใกล้เคียง อันเป็นมณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่ง “พิธีเทวาภิเษกเทพหนุมาน” ครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 นักษัตรปี “วอก” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นพิธีในวันเสาร์ห้า ตามตำราที่โบราณจารย์สืบทอดไว้ว่า เป็นวันอันควรประกอบพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเกิดผลสัมฤทธิ์ไพศาล พลานุภาพของ "เทพหนุมานทรงฤทฺธิ์" จะประสบผลสำเร็จสมประสงค์ทุกประการครับผม สัปดาห์พระเครื่อง โดย ราม วัชรประดิษฐ์