สำหรับเทรนด์อาชีพที่ทั่วโลกและไทยต้องการ ดีมานด์พุ่งทั้งสายโปรแกรมเมอร์ (Programmer) สายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) และสายวิทยาการข้อมูล (Data Science) ฐานเงินเดือนพุ่งทะลุเพดาน ซึ่ง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ชี้เป็นหนึ่งในกลุ่มงานดาวรุ่งที่สุดในศตวรรษที่ 21 สานฝันนักเรียนที่ชื่นชอบด้านไอทีทั้งจากสายวิทย์และสายศิลป์ เข้ามาเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสในวงการไอทีโดยมหาวิทยาลัยช่วยสอนปรับฐานในทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียน มุ่งสร้างการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ได้ลงมือทำจริงทั้งในและนอกห้องเรียนกับบริษัทชั้นนำของวงการ เพื่อความได้เปรียบในเชิงทักษะการประยุกต์ใช้ และคอนเนคชั่นของบัณฑิตเมื่ออกจบออกไป เน้นการปฏิบัติและเรียนรู้จากตัวจริง เพื่อสร้างคนไอทีที่ทำงานได้จริง

โดย ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพด้านไอทีทุกสาขามีความต้องการและขาดแคลนอย่างมากทั้งในระดับโลกรวมทั้งในประเทศไทยเองด้วย ทั้งนี้เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้อาชีพด้านไอที มีความต้องการสูงในทุกตำแหน่งงาน และเป็นหนึ่งในทิศทางตลาดแรงงานที่จะช่วยทำให้แรงงานไทย หลุดพ้นจากกับดักความยากจน ตามแผนพัฒนาประเทศ  จึงเป็นตัวการันตีอย่างหนึ่งว่า นักเรียนที่เข้าเรียนต่อด้านไอที เมื่อเรียบจบไปแล้ว จะมีงานทำรองรับในทันทีจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

 

ซึ่ง ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เปิด สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Data Science and Cybersecurity) ขึ้นมารองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ควบคู่กับ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงในวงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่าง บริษัท T-Net ผู้ให้บริการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และบริษัท G-Able ผู้พัฒนาโซลูชันด้านไอทีสำหรับองค์กร เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติกับมืออาชีพในวงการตัวจริงเข้มข้นเพื่อสร้างคนไอทีระดับฟูลสแต๊ก ทำงานได้รอบด้านในคนเดียวกัน

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัย ยังเปิดรับนักเรียนทุกสาย ทั้งเด็กสายวิทย์ และ สายศิลป์ ที่สนใจเข้ามาเรียนสาขาไอที โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนจบด้านสายศิลป์ แต่มีความสนใจด้านการเขียนโปรแกรม อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้อย่างแน่นอน เพราะเราออกแบบหลักสูตร ตั้งแต่ปูพื้นฐานความรู้ทุกอย่างที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรม ระบบตรรกะความคิดในการเขียนโปรแกรม การเรียนภาษาโปรแกรมที่นิยมใช้กันมากที่สุด ไปจนถึงการฝึกฝนผ่านการเรียน และการแข่งขันจนมีความชำนาญ ซึ่งจะทำให้เป็น นักพัฒนาโปรแกรมที่พัฒนาได้ทั้งส่วนหน้าบ้าน (Front End) และส่วนหลังบ้าน (Back End) หรือที่เรียกว่า Full Stack Developer ซึ่งเป็นระดับที่บริษัทไอทีทุกบริษัท พร้อมเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าโปรแกรมเมอร์ทั่วไป เพื่อคว้าตัวไปร่วมงาน และที่ผ่านมาก็ได้มีบริษัทไอทีเข้ามาติดต่อ ขอตัวนักศึกษาไปทำงานระหว่างที่กำลังศึกษาเป็นจำนวนมากอีกด้วย

อย่างวิทยาการคอมพิวเตอร์(Computer Science) เป็นสาขาที่มุ่งเน้นการเป็นโปรแกรมเมอร์  ที่สามารถจะต่อยอดไปการทำงานในสายไอทีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เขียนโปรแกรมใช้ภายในองค์กร พัฒนาระบบเว็บไซต์ หรืองานไอทีในสาขาต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่นักศึกษาสามารถต่อยอดไปทำงานไอทีได้หลากหลาย และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของบริษัทและลูกค้าได้ในอนาคต

ส่วนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(Cybersecurity)เป็นสายงานที่มีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับต้นๆ ของการประกาศรับสมัครงานด้านไอที แม้กระทั่งหน่วยงานกองทัพก็ยังต้องการบุคคลากรที่มีความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาระบบป้องกันประเทศ เพื่อปกป้องระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศและข้อมูลประชาชน หากเกิดสงครามไซเบอร์ (Cyber warfare) ในอนาคต  
สำหรับองค์กรบริษัททั่วไปก็มีความต้องการผู้ดูแลความปลอดภัยข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสำคัญของบริษัท การดูแลระบบป้องกันการเจาะเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บรักษาข้อมูล จึงถือว่าความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาไม่นาน แต่เป็นที่ต้องการของทุกบริษัท ทุกองค์กรอย่างมาก เพราะปัจจุบันข้อมูลของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล รูปภาพ บัญชีธนาคาร ข้อมูลด้านการแพทย์ ทุกอย่างถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ หรือเก็บไว้ในระบบคลาวด์ (เก็บข้อมูลบนฐานข้อมูลออนไลน์) ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายการเจาะข้อมูลของแฮกเกอร์ เพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ไปขายต่อในตลาดมืด หน้าที่ของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือการเป็นผู้ดูแลระบบและข้อมูลเหล่านี้ให้ปลอดภัย สามารถแก้ไขปัญหาเมื่อระบบตรวจจับได้ว่ากำลัง ถูกแฮกเกอร์บุกรุก 

ท้ายสุดคือวิทยาการข้อมูล (Data Science) ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งอนาคตที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น วิทยาศาสตร์แขนงที่สี่ ต่อยอดจาก วิทยาศาสตร์การทดลอง วิทยาศาสตร์ทฤษฎี และวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ เปรียบเสมือนเหมืองทอง และบ่อน้ำมัน ที่มีมูลค่ามหาศาล และทุกบริษัทยอมทุ่มทุนซื้อหรือพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้มีชัยเหนือคู่แข่ง

สำหรับสาขาวิชานี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้ ระบบทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อออกแบบระบบฐานข้อมูล และสร้างอัลกอริทึม มาประมวลผลฐานข้อมูลที่ได้มา เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งทำให้โปรแกรมเมอร์ด้าน Data Science เป็นที่ต้องการขององค์กรระดับโลก และมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับโปรแกรมเมอร์สาขาอื่นๆ