วันที่ 19 ธ.ค.65  นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบกำหนดตัวชี้วัดค่ามาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ โดยกำหนดตัวชี้วัดสัดส่วนนักเรียนชั้น ม.3 จะต้องมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ร้อยละ 50 ขึ้นไป ซึ่งการกำหนดให้เอาคะแนนโอเน็ต เป็นตัวชี้วัด อาจจะขัดแย้งกับประกาศ ศธ. เรื่อง นโยบายการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ยกเลิกไม่นำคะแนนสอบโอเน็ตมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินผลการเรียนนั้น


 จากการพูดคุยนอกรอบ ผู้แทนจากสภาพัฒน์ ก็เข้าใจ และจะนำประเด็นนี้มาทบทวนอีกครั้ง นอกจากจะทบทวนเรื่องคะแนนโอเน็ตแล้ว ศธ.จะเสนอให้สภาพัฒน์ ปรับแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นแผนระดับ 2 ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ ได้เสนอครม. ให้ความเห็นชอบ ให้ประเทศมีแผนการดำเนินงาน 3 ระดับ คือ แผนระดับ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับ 2 จะเป็นแผนแม่บท และแผนการปฏิรูปประเทศ และ แผนระดับ 3 เป็นแผนการทำงานเทียบเท่ากับแผนระดับหน่วยงาน โดยที่ผ่านมาสภาพัฒน์ กำหนดแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผนระดับ 3 เทียบเท่ากับแผนระดับหน่วยงาน เมื่อได้ใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ มาระยะหนึ่งพบว่า มีปัญหาในการขับเคลื่อนอย่างมาก เพราะหน่วยงานต่างๆ มักจะยึดแผนของหน่วยงานของตนเป็นแผนหลักทำให้การขับเคลื่อนงานไม่เชื่อมโยงกับแผนการศึกษาแห่งชาติได้ดีเท่าที่ควร จึงจะเสนอให้สภาพัฒน์ ยกแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผนระดับ 2 เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ดีขึ้น นายอรรถพล กล่าว

โดยในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) ทาง ศธ.จะหารือร่วมกับผู้แทนจากสภาพัฒน์ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดย ศธ. จะเสนอให้วัดการทดสอบอย่างอื่นแทนโอเน็ต เช่น วัดคุณภาพนักเรียนในทักษะด้านภาษา หรือทักษะคุณภาพด้านการศึกษาอื่นๆ แทน