ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.ว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กว่า 9,614 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 3,056 คน ปัจจุบัน กสศ. เปิดรับสมัครผู้รับทุนการศึกษา ปีการศึกษา 2566 จำนวน 2,500 ทุน เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและอื่นๆ ที่เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร 116 แห่ง ใน 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานระดับประเทศและท้องถิ่น สร้างงานให้กับผู้เรียนทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา  

“นอกจานี้ กสศ.ยังจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษา พัฒนาระบบดูแลนักศึกษาและการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา พัฒนาแบบหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรม เช่น การพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิต ดูแลช่วยเหลือนักศึกษา ซึ่งร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใจในสถานศึกษา ถือเป็น 1 ในนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตเยาวชน ให้เกิดพฤติกรรมและอารมณ์ที่เหมาะสม พร้อมรับมือต่อปัญหา เป็นการเชื่อมการศึกษาและระบบสุขภาพ” ดร. ไกรยส กล่าว

ด้านเรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงต้นแบบการพัฒนานักศึกษาอาชีวะ ว่า การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาและสายอาชีพ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยยกระดับคุณภาพของหลักสูตร พัฒนาสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี)

รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่มีคุณค่าสู่เชิงพาณิชย์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับมาตรฐานการพัฒนาภาษาต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานของประเทศ หลังจากอาชีวะได้ร่วมมือกับ กสศ. ทำให้นักเรียนอาชีวะศึกษาไม่ต้องกังวลในการมีงานทำอีกต่อไป และมีทักษะวิชาชีพ ภาษาต่างประเทศ และการดูแลเอาใจใส่สุขภาพจิต และตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและขยายโอกาส โดยมีความชัดเจนคือตัวงเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลง

อย่างไรก็ตาม กสศ .และ สอศ.ทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาและสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนจากทุกสังกัด สอศ. และ อว. ซึ่งถือเป็นสถานศึกษาตัวแบบของการพัฒนาคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับ กสศ. และภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดภาพปลายทางใน 2 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย1.การขยายทุนการศึกษาแก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่กว้างขวางขึ้น เพิ่มเติมจากที่ กสศ. สนับสนุนตัวแบบได้เพียง 1% ต่อรุ่น หรือจำนวน 2,500 ทุนต่อปี ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วนที่มีทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

2.การส่งเสริมผู้บริหาร ครู และสถานศึกษาอาชีวศึกษาในการดูแลเยาวชนครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพจิตใจ อาชีพ และโอกาสการมีงานทำ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส และการผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้และในมิติต่างๆ

นางสาวนัยนา ปานนอก นักศึกษาโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ม.บูรพา กล่าวว่า ทุนการศึกษา กสศ. ทำให้ ชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง ช่วยแม่ทำงานกับการเรียนต่อตัดสินได้ง่ายขึ้น เพราะมีทุนในการเรียนต่อและเมื่อจบแล้วมีงานทำ ซึ่งขอขอบคุณที่มอบโอกาสให้ก้าวมาเป็นนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ช่วยให้สามารถตั้งหลักชีวิต พร้อมสู้ต่อ การเรียนผู้ช่วยพยาบาล เป็นจุดตั้งต้น ที่ทำให้ตนเองมีฝันที่จะได้เรียนต่อ เป็น “พยาบาล” อย่างที่ฝัน

..การพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อสร้างคนสร้างโอกาส ให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาส ยากจนได้เรียนต่อสายอาชีพ ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของประเทศ แต่หากยังช่วยให้นักเรียนที่ยากจนได้มีงานทำงานและสร้างโอกาสในการหลุดพ้นความยากจนได้ นับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนอนาคตของชาติให้สามารถเรียนและทำงานตามความฝันได้..