ในปี 2549 กลุ่มงานวิจัยพันธุ์พืชป่ามีค่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจพบป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สักธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง มีพื้นที่ต่อเนื่องกันกว่า 60,000 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อำเภอเมืองงและอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นป่าที่ฟื้นตัวจากการสัมปทานทำไม้เมื่อในอดีต จนกระทั่งมีการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปายขึ้นในปี 2515

นายสว่าง กองอินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ป่าแห่งนี้มีไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีทรงต้นใหญ่สวยงาม เป็นป่าสักผืนที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้พบว่าไม้สักในที่แห่งนี้สามารถขึ้นได้ที่ระดับความสูงถึง 1,300 เมตร จากที่เคยมีการบันทึกไว้ไม่เกินระดับความสูง 750 เมตร ซึ่งนายโกวิท ปัญญาตรง ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ พร้อมด้วยนายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ในขณะนั้น ได้นำข้อมูลดังกล่าวปรึกษานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ต่อมาท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยได้พระราชทานชื่อผืนป่านี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี”

“นับเป็นการกระจายพันธุ์ไม้ที่แปลกบนพื้นที่ประมาณกว่า 60,000 ไร่ โดยมีไม้สักไม่รวมไม้อย่างอื่นคิดเป็นมูลค่ามหาศาล สมควรที่จะรักษาไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่เนื่องจากพื้นที่ป่าอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน การจะอนุรักษ์ป่าจะต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ด้วย และเมื่อมีความเป็นอยู่ดี คนก็ไม่ต้องไปใช้ทรัพยากรจากป่ามากนัก จึงเกิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบริเวณลุ่มน้ำปายควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า” นายสว่าง กองอินทร์ กล่าว

ด้าน นางสาวนภาพร ปูเงิน ชนเผ่ามูเซอ ราษฎรหมู่บ้านนาอ่อน หมู่ที่ 6 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริเวณลุ่มน้ำปายเปิดเผยว่า ตั้งแต่มีโครงการฯ ทุกคนในหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนในการประกอบอาชีพ ได้รับความรู้ในการทำกินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และความรู้เกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้สัก ทุกคนช่วยกันดูแลป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ธรรมชาติดีขึ้น มีน้ำสมบูรณ์ ดินก็สมบูรณ์ตามไปด้วย 

“ปีที่แล้วทางโครงการฯ ได้ให้เมล็ดพันธุ์ผักและให้ความรู้ในการเพาะปลูก เช่น ฟักทองควรปลูกเดือนไหนถึงจะดีทั้งผลผลิตและตลาด ถั่วลิสงปลูกเดือนไหน เก็บเกี่ยวเดือนไหนที่ไม่ทำให้ราคาตก รวมถึงวิธีการดูแลการเติบโตของพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไป ทำให้มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทุกปีผลผลิตที่นี่จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก สำหรับผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการและมีราคาดี อาทิ เผือกหอม ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วญี่ปุ่น และขิง” นางสาวนภาพร ปูเงิน กล่าว

ในการนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 กลุ่มบ้านนาอ่อน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โอกาสนี้ได้พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่โครงการ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ พบว่า การดำเนินงานในปี 2565 มีความคืบหน้าในหลายกิจกรรม อาทิ การจัดฝึกอบรมหลักสูตรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รส.ทป.) มีการจัดทำแนวกันไฟระยะทาง 75 กิโลเมตร  ควบคู่กับการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า 150 ไร่ โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วม สามารถลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้นอีก 25 ไร่ ภายใต้กิจกรรมการเกษตรแบบยั่งยืน และส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนให้แก่ราษฎร 4 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน (กลุ่มบ้าน) จำนวน 654 หลังคาเรือน รวมราษฎร  2,285 คน

“โดยกปร. ได้ให้งบประมาณสนับสนุนแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตที่ได้ทำให้ราษฎรมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อเปลี่ยนจากพืชล้มลุกหรือพืชเลื่อนลอยมาเป็นไม้ให้ผลยืนต้น จะทำให้สภาพป่ามีความชุ่มชื้นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ผลผลิตได้คุณภาพ ขายได้ราคาดี มีความมั่นคงในชีวิต” นายสว่าง กองอินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า ฯ กล่าว