ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎร

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นำสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ เยี่ยมชมฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ให้การต้อนรับและนำชมการดำเนินงานของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ในด้านต่างๆ อาทิ การเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย กระบวนการผลิตเกลือและน้ำทะเลผง การสาธิตการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำเค็ม อาทิ ปลาช่อนทะเล  ปลาขี้ตังเบ็ด ปลาทู ปลาการ์ตูน ปลาจะละเม็ดทอง หอยเป๋าฮื้อ การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ ปลานิลแดงในบ่อดิน ตลอดถึงกิจกรรมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น

ตลอดมาฟาร์มตัวอย่างฯ ได้นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น โครงการธนาคารปูม้าชุมชนบ้านคลองวัว ที่ได้รับความรู้ด้านการอนุรักษ์ปูม้าและสัตว์น้ำอื่นๆ มาปฏิบัติใช้โดยไม่จับ ไม่บริโภคปูไข่นอกกระดอง ปัจจุบัน นายสมจิตร์ นิ่มน้อย (ลุงจุน) เป็นประธานกลุ่มฯ นำชมเปิดเผยว่า บ้านคลองวัวเป็นชุมชนประมงชายฝั่ง มีเรือออกทะเลจับสัตว์น้ำกว่า 80 ลำ โดยแรกเริ่มคนในชุมชนประมงเห็นว่าปูที่จับได้มีไข่นอกกระดอง จึงได้ปรึกษากันเพื่ออนุรักษ์ปูและเริ่มเขี่ยไข่ปูนอกกระดองและอนุบาลไว้ในถัง ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก และนำตัวอ่อนปูไปปล่อยในท้องทะเลบริเวณริมฝั่งใกล้ๆ กับชุมชน ต่อมาพบว่ามีปริมาณปูที่จับได้เพิ่มขึ้น เมื่อทุกคนเห็นผลดีจึงร่วมกันนำปูมาเขี่ยไข่และปล่อยสู่ทะเลมากขึ้น

“ตลอดมาได้รับความรู้และการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น ปัจจัยพื้นฐานในการทำธนาคารปูม้า ความรู้ในการเขี่ยไข่ปูและการอนุบาลไข่ปูก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ทำให้มีปริมาณปูม้าเพิ่มขึ้น โดยในการออกเรือแต่ละครั้งไม่ต้องออกทะเลไปไกลก็สามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณมาก ทำให้ช่วยลดเวลาลดค่าใช้จ่ายน้ำมันให้แก่ชาวประมงได้เป็นอย่างดี ขณะที่สัตว์น้ำที่จับได้ขายได้ราคา มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อประจำ ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกจำนวน 40 คน” นายสมจิตร์ นิ่มน้อย กล่าว

จากนั้นเดินทางไปฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นของ ดาบตำรวจมนู เผ่าจันทร์ เกษตรกรเจ้าของฟาร์มฯ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองประธานกลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี นำชมอาทิ ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน การเก็บผลผลิตและการคัดแยกสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อจำหน่าย ซึ่งได้รับความรู้จากฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ตลอดถึงการจัดตั้งกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลเพื่อควบคุมคุณภาพ ราคา การส่งออกในอนาคต โดยทางฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ได้ติดตามและให้คำปรึกษาในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างต่อเนื่อง

“ภายในฟาร์มฯ จะทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบครบวงจรด้วยการนำสัตว์น้ำ อาทิ ปู กุ้ง และปลากะพงขาวปล่อยเลี้ยงภายในบ่อเพาะเลี้ยงสาหร่าย ซึ่งปูจะกินแพลงก์ตอนบริเวณผิวดินภายในบ่อ กุ้งจะกินอาหารบริเวณช่อสาหร่าย ขณะที่ปลากะพงจะกินกุ้งเป็นอาหาร โดยสัตว์ทั้งสามชนิดนี้สามารถจับขายสร้างรายได้แก่ครอบครัว ขณะที่สาหร่ายพวงองุ่นก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่อนุรักษ์ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ” นายมนู เผ่าจันทร์ กล่าว

สำหรับฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แก่นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวังในขณะนั้น และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปความว่า “ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่างๆ จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อม คืนสมดุลด้วยจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล” พร้อมทรงริเริ่มให้ดำเนินงานฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ โดยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ที่นางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในพื้นที่นาเกลือริมทะเลบริเวณหลัก กม. 15 หมู่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 82 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา จัดตั้งเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเองได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ