องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

จากสภาพปัญหาดอยตุงซึ่งเคยเป็นพื้นที่เขาหัวโล้นจากการบุกรุกเพื่อใช้พื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียนของราษฎรซึ่งส่วนใหญเป็นชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ ลั๊ว และจีนยูนาน มีฐานะยากจนและขาดโอกาส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงทรงริ่เริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดยเริ่มพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ น้ำ ดิน ป่า สาธารณูปโภค และสาธารณสุข พร้อมกับกาพัฒนาอาชีพ ส่งผลให้ผืนป่าเพิ่มขึ้น ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2531 มีรายได้ 3,772 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2563 มีรายได้ถึง 90,895 บาทต่อคนต่อปี

ต่อมาองคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านบ้านอาข่าป่ากล้วย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพจากโครงการฯ จากนั้นคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จำนวน 150 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน 549 ตัวไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นจากสภาพอากาศ สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพสกนิกรเสมอมา การนี้ องคมนตรีรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ พบปะเยี่ยมราษฎร และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการฯ  อาทิ การตีมีด การจักสานเครื่องใช้ งานศิลปาชีพ โอกาสนี้ ได้เชิญถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรที่ป่วยและทุพพลภาพ จำนวน 4 ราย

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืนและยั่งยืน โดยใช้หลักการ การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำรัส “ให้ดำเนินการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ โดยเน้นการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต” โดยสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการป้องกันรักษาป่าให้คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติโดยชุมชนมีส่วนร่วม ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ตั้งแต่ปี 2549-2565 จำนวน 4,400 ไร่  ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง มีเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรพออยู่พอกิน โดยเริ่มจากรับราษฎรเข้ามาฝึกงานพร้อมกับการจ้างเป็นแรงงานในสถานีฯ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตร เมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง  ด้านการศึกษา มีโรงเรียนบ้านห้วยหยวกป่าโซ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนและนักเรียน ด้านสาธารณสุข มีแพทย์และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน มีการประสานงานระหว่างส่วนราชการและชุมชน เพื่อการป้องกันการระบาดของยาเสพติดและป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาสถานีฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

ช่วงบ่ายคณะฯ เดินทางไปยัง กองบังคับการกองร้อยทหารม้าที่บกที่ 1 บ้านห้วยอื้น ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 167 ถุง มอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ได้แก่ ที่บังคับการกองร้อยทหารม้าที่ 1 หมวดทหารม้าที่ 1 หมวดทหารม้าที่ 2 หมวดทหารม้าที่ 3 และกำลังพลชุดปฏิบัติการบ้านนาโต่ (ตชด.) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนและรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ

ต่อจากนั้น เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง ตําบลแม่เงิน อําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 187 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน 694 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้ โอกาสนี้ องคมนตรี ได้เยี่ยมชมการทำเครื่องเงิน ผลผลิตการแปรรูปเยียนราษฎร พร้อมรับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 11,000 ไร่ เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่า โดยให้สถานีเป็นแหล่งจ้างงาน ผลิตอาหารที่ปลอดภัยในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่ถูกวิธี จนสามารถนำไปผลิตในที่ดินของตนเองได้ สามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีการจัดระเบียบชุมชนพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

ผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียงร่วมเป็นเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทำให้หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า และสามารถฟื้นฟูสภาพป่า ปรับปรุงระบบนิเวศไปแล้ว 2,450 ไร่ ทำให้สภาพป่าต้นน้ำบริเวณพื้นที่ของโครงการคงความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและด้านสาธารณูปโภคตลอดทั้งปี ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่อีกทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน แหล่งศึกษาดูงาน แหล่งฝึกปฏิบัติการปลูกและดูแลพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลและการให้ความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการปลูกพืชผักและไม้ดอกเมืองหนาวแก่ราษฎร ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการทำยอดหวายอบแห้ง การตีมีด การทำผ้าปักชนเผ่า และการทำเครื่องประดับเงิน ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 58,011 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว

สำหรับแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปคือการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำหน่ายผลผลิตของชุมชน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังฝึกฝนเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รวมถึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประจำสถานีฯ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ด้านพัฒนาที่ดิน ศูนย์การเรียนรู้ด้านประมง และอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกมิติต่อไป

สำนักงาน กปร. กองประชาสัมพันธ์