บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก่อตั้งในวันที่ 5 ตุลาคม 2505 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการลงทุนขยายธุรกิจและการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องเกิดการเจริญเติบโต และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ    คิดเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยบริษัท โตโยต้าฯ มียอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสะสมกว่า 7 ล้านคัน รวมถึงผลักดันประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในฐานะฐานการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกด้วยยอดการส่งออกกว่า 5 ล้านคัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในด้าน เทคโนโลยียานยนต์และคุณภาพการให้บริการภายใต้แนวคิด “Best in Town” เพื่อตอบสนองทุก ความต้องการของลูกค้าในทุกยุคสมัย ตลอดจนเป็นหนึ่งในองค์กรบรรษัทภิบาลชั้นนำของประเทศด้วยการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านหลากหลายโครงการและนวัตกรรมเพื่อสังคม

ในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี บริษัทฯ ได้มีการนำเสนอถึงแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ในการบรรลุเป้าหมายการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) อันเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทโตโยต้าทั่วโลก โดยโตโยต้าในฐานะ “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน ที่มุ่งมั่นในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ” หรือ “electrification full line-up car maker” ด้วยการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi - Pathway”  เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งปรัชญาของโตโยต้าที่จะเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” โดยคำนึงถึงบริบทและปัจจัยในการเลือกใช้งานรถยนต์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม กำลังซื้อ พลังงานที่มีอยู่ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และศักยภาพทางอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าจึงได้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกต่างๆ เพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)

ยังเล็งเห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ โตโยต้าจึงถือโอกาสจัดแสดงรถกระบะต้นแบบพลังงานไฟฟ้า (IMV BEV Concept) ให้แขกภายในงานได้รับชม เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีรถกระบะในอนาคตอีกด้วย

เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนยุคหน้าภายใต้แนวทาง Multi – Pathway โตโยต้ายังได้นำต้นแบบยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV : Hydrogen Internal Combustion Engine Vehicle) มาเผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้คนโดยไม่จำกัดที่การใช้พลังงานใดพลังงานหนึ่ง ด้วยแนวคิดนี้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของโตโยต้าสะสมในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 150,000 คัน มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 800,000 ตัน เทียบเท่ากับปลูกป่าบนพื้นที่ขนาด 97,000 ไร่ หรือ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 2.4 ล้านต้น

มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า วันนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง โตโยต้าได้เติบโต​ในประเทศไ​ทยโดยมีคนไทยทุกท่านเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้มีโอกาสได้เฉลิมฉลองในวันนี้ สำหรับ​ตัวผมเอง​ มันไม่ใช่เรื่องของ จำนวนยอดขายรถที่เราทำได้ที่นี่ ​ สิ่งที่เราต้องการมอบให้ประเทศนี้มีมากกว่าแค่รถยนต์​ เช่น การช่วยสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจ ดังเช่น ความตั้งใจที่เราเลือกให้ประเทศ​ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถรุ่นใหม่ระดับโลกภายใต้โครงการไอเอ็มวี

การแนะนำรถกระบะไฮลักซ์ วีโก้ภายใต้โครงการไอเอ็มวียังคงเป็น ความทรงจำที่ผมประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานของผม เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ผมจึงตัดสินใจที่จะสร้างรถไอเอ็มวีแบบใหม่ เพื่อให้เป็นรถกระบะสำหรับประเทศไทย ได้แก่รถต้นแบบใหม่ล่าสุด IMV 0 และ รถต้นแบบไฮลักซ์ รีโว่ ที่มาในระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ทั้งสองรุ่นนี้ แสดงถึงแง่มุมที่แตกต่างในเชิงยนตรกรรม ซึ่งตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันและเหมาะกับลูกค้าคนละกลุ่ม รุ่นหนึ่งถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกรุ่นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริม การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อเอ่ยถึงการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน  เราต้องเข้าใจว่า คาร์บอนคือศัตรูตัวจริง ไม่ใช่ระบบส่งกำลังแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ว่ากันตามตรงแล้ว​รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียว ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ที่โตโยต้า​ เราเชื่อในการสร้างสรรค์รถยนต์ให้ครบทุกประเภท เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยลดคาร์บอนสำหรับลูกค้าของเรา ตั้งแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึง รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง นอกจากนั้นเรายังมุ่งพัฒนา ทางเลือก​อื่นๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน อย่าง​ GR-Yaris และ GR-Corolla​ ซึ่งเป็นรถต้นแบบที่ขับเคลื่อน​ด้วยไฮโดรเจน ผมยังคงเชื่อว่า ในขณะที่เราพยายามเดินหน้าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเราจำเป็นต้อง​ใช้แนวทางแบบ อง​ค์รวม​เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศแนะนำพันธมิตรใหม่ของเราคือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั่นคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยเราจะร่วมมือกันในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคิดทบทวนถึงวิธีการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์​อย่างรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิง และด้วยการพัฒนาให้ระบบการขนส่งด้วยรถยนต์ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของเรา นอกจากนั้นแล้ว ภายใต้ความร่วมมือนี้ เราจะยกระดับความพยายามของซีพีในปัจจุบันในการผลิตไฮโดรเจนสะอาดจากชีวมวล เช่น มูลไก่ อีกด้วย ผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมกับซีพี นำจุดแข็งที่เรามีอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศและผู้คนให้มากยิ่งขึ้น

ผมก็ยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า พันธมิตรในครั้งนี้ประกอบด้วยสมาชิกอื่นๆ ของบริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ประกอบไปด้วย ไดฮัทสุ ซูซูกิ อีซูซุ และฮีโน่ โดยบริษัท CJPT ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาการขับเคลื่อนแห่งอนาคตโดยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมของเรา เราชักชวนคู่แข่งให้มาร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเฟ้นหาความเป็นไปได้ในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกัน

ผมอยากขอขอบคุณทุกท่านในฐานะสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวโตโยต้าในระดับโลก เมื่อเราร่วมมือกัน ผมเชื่อว่าทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ เราจะสามารถช่วยทำให้โลกใบนี้เป็นที่ที่ดียิ่งขึ้นและค่อยๆ เพิ่มรอยยิ้มไปด้วยกัน