องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านดอยบ่อ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จำนวน 311 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน 286 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านดอยบ่อ  โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ห้วยหญ้าไซ อำเภอแม่สรวย และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ (เวียงป่าเป้า) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โอกาสนี้ องคมนตรี ได้พบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนราษฎร และรับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านดอยบ่อ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริ ความว่า “…อีก 10 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีวิธีแก้ปัญหาโดยการปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับป่า…” โครงการมีพื้นที่ดำเนินการ 15,000 ไร่ ลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมจึงต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนสู่สภาพเดิม โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านจะต๋อเบอ บ้านจะฟู หมู่ที่ 18 และบ้านลอบือ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ดังนี้ 1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ 2) ชุมชนมีความเข้าใจในแนวทางพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาป่าไม้และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน 3) ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการทำให้มีการจ้างแรงงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น 4) เดิมราษฎรขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและฝายแบบกึ่งถาวร ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภคตลอดปี ช่วยลดการไหลบ่าของน้ำในช่วงที่มีฝนตกหนักและลดการกัดเซาะดินของน้ำ ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ลิ้นจี่ อโวคาโด แมคคาเดเมีย เงาะ มะม่วง กาแฟ ชา สตรอเบอร์รี่ และพืชผักปลอดสารพิษ การทำนาแบบขั้นบันได การเลี้ยงไก่ดำ ปลา และกบ ไว้บริโภคในครัวเรือนหากเหลือจากการบริโภคสามารถจำหน่าย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ราษฎร มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาประจำหมู่บ้าน ส่งเสริมให้ราษฎรร่วมทำแนวกันไฟและการเฝ้าระวังไฟป่าให้มีความต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงการปรับปรุงเส้นทางและระบบสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 314 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน 911 ตัวไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน  โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ บ้านหนองห้า อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จากนั้น องคมนตรี ได้พบปะพูดคุยกับราษฎร และรับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยให้คนอาศัยอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน และยั่งยืนตลอดไป จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านอาชีพ ปัจจุบันราษฎรบ้านปางขอนมีการปลูกกาแฟอาราบิก้าเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพอื่น ๆ เช่น การปลูก อะโวคาโด้ แมคคาเดเมีย และการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าประมาณ 2,500 ไร่ มีการแปรรูปในรูปแบบของกาแฟกะลา จำนวน 250 ตันต่อปี ทำให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนมากกว่าปีละ 25 ล้านบาท ก่อนการก่อตั้งโครงการสถานีฯ ราษฎรในพื้นที่มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 50,000 บาทต่อปี ในปัจจุบันมีรายได้จากการผลิตกาแฟ ประมาณ 150,000 – 250,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายได้จากการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น การปลูกอะโวคาโด้ แมคคาเดเมีย และการท่องเที่ยว รวมประมาณ 50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันราษฎร มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 200,000 – 300,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง เป็นแหล่งจ้างงาน แหล่งศึกษาดูงาน แหล่งฝึกปฏิบัติการปลูกและดูแลพืชผักผลไม้และการให้ความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าใต้ร่มไม้ใหญ่แก่ราษฎร และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายกาแฟกะลา รวม 32,207,320 บาท จากการขายผลผลิตพืชเกษตร อื่น ๆ เช่น ท้อ บ๊วย เชอรี่ พืชผักต่าง ๆ และจากการรับจ้างทั่วไป รวมทั้งการรับจ้างทำงานในสถานีฯ ด้วย ทำให้ราษฎรบ้านปางขอน มีรายได้รวมทั้งสิ้น 50,796,350 บาท หรือมีรายได้เฉลี่ย 288,615.63 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว อีกทั้ง ได้ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศไปแล้ว 6,644 ไร่ สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป จะพัฒนาพื้นที่โครงการเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเน้นจุดเด่นเรื่องกาแฟอาราบิก้าและต้นนางพญาเสือโคร่ง ส่งเสริมและสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ราษฎรด้านการปลูกผลไม้ยืนต้น เช่น ท้อ บ๊วย แมคคาเดเมียนัท เพื่อเพิ่มรายได้แก่ราษฎร และขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสู่ชุมชนพื้นที่ข้างเคียงโครงการฯ ต่อไป

ช่วงบ่าย เดินทางไปยังโครงการฝายปางไคร้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โอกาสนี้ รับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายวังกอกพร้อมระบบส่งน้ำและฝายปางไคร้พร้อมระบบส่งน้ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ตามที่ราษฎรตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้ขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภค โดย กปร. ให้การสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2563 ทำให้ราษฎรตำบลแม่เจดีย์ใหม่ 8 หมู่บ้าน จำนวน 3,086 ครัวเรือน ประชากรรวม 9,694 คน มีแหล่งน้ำสำหรับทำเกษตรกรรม และสนับสนุนพื้นที่การเกษตร จำนวน 4,720 ไร่ การนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการฯ และพบปะพูดคุยกับราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯ

สำนักงาน กปร. กองประชาสัมพันธ์