ส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่ “มงคลนพคุณ” สักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน ยามค่ำ “นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า” เนื่องในเทศกาลปีใหม่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “มงคลพุทธคุณ” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยในวันนี้ (28 ธ.ค. 65) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2566 เป็นปฐมฤกษ์ แล้วเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 เวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ (วันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 65 ถึงวันจันทร์ที่ 2 ม.ค. 66 เวลา 09.00 – 19.30 น.)

สำหรับพระพุทธรูป 10 องค์ ประกอบด้วย พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปประจำวันอีก 9 องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน 8 องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จำนวน 1 องค์ ซึ่งล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนาน และกอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ประกอบด้วย

1.พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย - ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 - 21

2. พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24

3. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22

4. พระพุทธรูปไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำวันอังคาร ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20

5. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำวันพุธ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 - 22

6. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ พระพุทธรูปประจำวันพุธ กลางคืน (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24

7. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25

8. พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันศุกร์ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21

9. พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24

10. พระหายโศกปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ กรมศิลปากรโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมเรียนรู้พร้อมรับพรปีใหม่อันเป็นมงคลจากผู้คุ้มครองดวงชะตาทั้งจากพระและเทพเจ้า รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ผู้ทำหน้าที่ปกปักรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกิจกรรม “นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า” เนื่องในเทศกาลปีใหม่ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 เวลา 17.00 – 18.00 น. วันละ 1 รอบๆ ละ 40 – 50 คน ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมในวันงาน (เวลา 16.30 น. ณ ศาลาลงสรง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เส้นทางกิจกรรมนำชมในครั้งนี้ แบ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. เทพเจ้ากับพระพุทธ  ผู้ครองเรือนชะตามนุษย์ และ 2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกปักรักษา ดังนี้

1. ผู้ครองเรือนชะตามนุษย์ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ได้แก่ นพเคราะห์ทั้ง 9 (อุปสรรค) ผู้ให้คุณและโทษแก่ผู้เกิดในวันนั้นๆ โดยมีพระคเณศเป็นเจ้าแห่งอุปสรรคทั้งหลาย นพเคราะห์เหล่านี้เองที่เป็นต้นแบบให้กับ รูปแม่ซื้อ ที่แขวนไว้เหนือเปลเด็กเกิดใหม่ โดยนำภาพสัตว์เทพพาหนะของแต่ละองค์มาแทนศีรษะ  แม่ซื้อในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์์โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคัดเลือกลักษณะปางหรือมุทราตามที่ปรากฏใน พุทธประวัติของพระบรมศาสดา จำนวน 40 ปาง มาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ    พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงปรากฏการสร้างพระพุทธรูปแทนนพเคราะห์ประจำวันเกิด ดังปรากฏในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่อัญเชิญมาให้สักการะในปีใหม่นี้

2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกปักรักษา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้น ประกอบด้วย พระชัยหลังช้าง ผู้ปกปักรักษากองทัพในการสงคราม พระพุทธรูปแกะสลักจากนอระมาด ของทนสิทธ์ผู้ปกปักรักษาบ้านเรือนให้ร่มเย็น รอดพ้นจากอัคคีภัย สัตตมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของครูโขนละคร ผู้ปัดเสนียดจัญไร พระภูมิเจ้าที่ ผู้ปกปักรักษาบ้านเรือน ไร่นา และยุ้งฉาง และเจ้าพ่อหอแก้ว ศาลพระภูมิประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับเส้นทางนำชมเรียงตามลำดับทักษิณาวรรต ได้แก่ 1.พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ 2.พระชัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระแกะสลักจากนอระมาด ณ พระตำหนักแดง 3.บัตรนพเคราะห์และแม่ซื้อ ณ พระตำหนักแดง 4.พระคเณศและสัตตมงคล ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข 5.พระภูมิเจ้าที่ ณ มุขเด็จ 6.พระชัยเมืองนครราชสีมา ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข 7. เจ้าพ่อหอแก้ว ณ ศาลพระภูมิประจำวังหน้า

นอกจากนี้  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังร่วมได้ลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ (*วันละ 10 ชิ้นเท่านั้น) "เครื่องรางโอมาโมริแก้ชง ปีเถาะ ธาตุน้ำ" ภายในบรรจุยันต์ "องค์ไท่ส่วย" ปี 2566 รับเมตตาอธิษฐานจิตจากพระอาจารย์จีนคณาณัติจีนพรต (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)