สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระกำแพงซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร หนึ่งในห้าพระเครื่องชุด “เบญจภาคี” มีการขุดค้นพบในฐานพระเจดีย์บริเวณ ลานทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามมากมาย แต่ ณ ปัจจุบันกลายเป็นทุ่งร้าง คงเหลือซากปรักหักพังของศาสนวัตถุให้เห็นไม่มากนัก พระพิมพ์ที่พบเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของเนื้อดินคือ มีความละเอียดมากและอ่อนนุ่มมากเหมือนกับเนื้อดินดิบ นอกจากนี้ จะปรากฏเม็ดสีแดงเล็กๆ อยู่เป็นบางจุดขององค์พระเรียกกันว่า “ว่านดอกมะขาม” เนื่องจากสีแดงคล้ายเม็ดมะขาม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแร่ธาตุบางชนิดมากกว่า เพราะถ้าเป็นเนื้อว่านตามที่เรียก เมื่อได้รับความร้อนจะต้องถูกเผากลายเป็นโพรงอากาศ ไม่ติดแน่นอยู่กับองค์พระเช่นนี้

พระกำแพงซุ้มกอดำพิมพ์ใหญ่ไม่มีลายกนก

พุทธศิลปะของ “พระกำแพงซุ้มกอ” จะมีลักษณะของศิลปะแม่พิมพ์ที่ลึกมากจนบางคนเปรียบเทียบว่า “ลึกเป็นเหว” ลึกจนแขนทั้งสองข้างกับลำพระองค์ขององค์พระประธานมีความลึกและชอนเป็นลักษณะแขนกลม ซึ่งน่าจะเป็นการถอดพิมพ์ที่ยากเอาการทีเดียว องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานบัวเล็บช้าง พระบาทและพระชานุกว้างและปรากฏซ้อนกันอย่างชัดเจน พระเกศเป็นรูปบัวตูมทรงจีโบ พระพักตร์เป็นทรงกลมเหลี่ยมตามแบบศิลปะลพบุรี พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และพระกรรณทั้งสองข้างปรากฏชัดเจน โดยรอบองค์พระประธานเป็น “ซุ้มลายกนก” ไม่เหลือพื้นที่ว่างด้านหลังองค์พระประธานเลย สามารถแบ่งแยกพิมพ์ได้ทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่, พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ไม่มีกนก หรือเรียกว่า “พระกำแพงซุ้มกอดำ”, พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์กลาง, พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์เล็ก พิมพ์นี้แทบจะไม่พบเห็นกันเลย และพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ

พระกำแพงซุ้มกอ  พิมพ์กลางหน้า

พระกำแพงซุ้มกอ  พิมพ์กลางหลัง

“พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่” นั้น นอกเหนือจากจุดตำหนิแม่พิมพ์ทุกจุดบนองค์พระดังกล่าวมาแล้ว จะมีเอกลักษณ์พิเศษในการพิจารณา คือ บริเวณฐานบัวเล็บช้างด้านขวามือขององค์พระประธานจะมีลักษณะงุ้มและยื่นออกมาเล็กน้อย มองดูคล้ายบิดองค์ ไม่ประทับแข็งทื่อ สีเนื้อขององค์พระส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง ส่วนสีเขียวมีน้อยมาก และสีดำจะไม่ปรากฏเห็นเลย

“พระกำแพงซุ้มกอดำ” จะมีพุทธลักษณะพิเศษแตกต่างออกไป ด้านหลังองค์พระประธานจะเรียบธรรมดาไม่มีลายกนกเลย จุดสังเกตสำคัญคือ สีเนื้อขององค์พระจะเป็นสีดำทุกองค์ สันนิษฐานว่ามวลสารของเนื้อดินน่าจะมีส่วนผสมบางอย่างซึ่งเมื่อผ่านการเผาให้สุกแล้วจะกลายเป็นสีดำ

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์เล็กหน้า

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ

สำหรับ “พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์กลาง” และ  “พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์เล็ก” นั้น มีพุทธศิลปะเช่นเดียวกับ “พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่” แตกต่างกันตรงขนาดเล็กลงและพุทธศิลปะตื้นกว่าลดหลั่นกันลงมาเท่านั้น ส่วน “พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ” เป็นพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์เล็ก ที่ไม่มีการตัดขอบ ส่วนเกินของแม่พิมพ์มีพุทธลักษณะคล้าย “ขนมเปี๊ยะ”

พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก

การพิจารณา “พระกำแพงซุ้มกอ” ที่แท้และงดงามนั้น ค่อนข้างจะง่าย เนื่องด้วยศิลปะแม่พิมพ์ที่ลึกมากจึงสามารถวินิจฉัยรายละเอียดต่างๆ และความสมบูรณ์บนองค์พระได้อย่างชัดเจน แต่เนื่องด้วยเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีความอ่อนนุ่ม เมื่อผ่านการใช้และผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จึงอาจเกิดการชำรุดแตกหักต่างๆ ซึ่งนับเป็นจุดสำคัญของการพิจารณาองค์พระว่าผ่านการซ่อมหรือตกแต่งใหม่หรือไม่ ให้สังเกตบริเวณรอยลึกต่างๆ โดยเฉพาะในส่วน “พระพักตร์” เพราะพระที่ผ่านจากการเผาจะปรากฏรอยเหนอะจากการถอดพิมพ์ แต่ถ้าเป็นองค์พระที่มีการเขี่ยแต่งใหม่จะไม่ปรากฏรอยเหนอะในเส้นครับผม

พิมพ์ใหญ่ไม่มีลายกนก