คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ผสานความรู้จากห้องเรียนกับสนามประสบการณ์ ให้นิสิตได้เรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคีนักกฎหมาย ร่วมปกป้องและส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

จุดเริ่มต้นห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน โครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนิสิต นักศึกษา และนักเรียนจำนวนมากออกมาแสดงพลังเพื่อเรียกร้องทางการเมือง นำไปสู่เหตุปะทะกับรัฐ รวมถึงการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทำให้คณาจารย์หลายคนและภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา

ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในประเทศไทย สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ รัฐมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ โดยที่หลายครั้ง ผู้ถูกละเมิดไม่รู้ว่าตัวว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิ เช่น การใช้กฎหมายฟ้องคนหรือกลุ่มคน เพื่อขัดขวางการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“กลไกการปกป้องสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากประชาชนไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไร หรือแม้รู้แล้ว ก็ต้องเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะสิทธิที่ถูกละเมิด ไม่ใช่แค่สิทธิของผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของทุกคน ซึ่งหากเราเห็นคนอื่นถูกละเมิด เราก็ควรเข้าไปช่วยปกป้อง เพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องร่วมกันปกป้อง”

เหตุการณ์ทางการเมือง ประกอบกับกระแสความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง สิ่งแวดล้อม ปัญหาปากท้อง ความเป็นธรรมด้านสาธารณสุข การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ ได้จุดประกายให้อาจารย์ ดร.พัชร์ จัดตั้งโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (LawLAB for Human Rights) เพื่อให้นิสิตได้ร่วมยกระดับความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้การสนับสนุนโครงการฯ ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) มูลนิธิเส้นด้าย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

3 แล็บ 3 พื้นที่การเรียนรู้ โครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” แบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 3 แล็บ โดยมีจุดเน้นแตกต่างกัน ดังนี้ แล็บ 1 : การติดตามการทำงานของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนที่เปิดให้นิสิตชั้นปี 2- 4 ได้เข้าฝึกงานกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แล็บ 2 : การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน นิสิตชั้นปี 2-4 จะได้เข้าอบรมเนื้อหาทางด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

แล็บ 3 : เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง รับสมัครเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 3-4 ซึ่งในครั้งล่าสุด นิสิตได้เข้ารับการอบรมในประเด็น “Anti-SLAPP Law” (SLAPP ย่อมากจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือการใช้กฎหมายปิดปาก และได้สัมภาษณ์เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจาก SLAPP Law นิสิตในโครงการทั้ง 3 แล็บ จะได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ การติดตามทนายไปร้องเรียน ยื่นหนังสือ ร่วมสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบที่เกิดเหตุ การสังเกตการณ์การชุมนุม กระบวนการพิจารณาคดี การเลือกตั้ง รวมถึงการศึกษาร่างกฎหมายใหม่ เป็นต้น

“สิ่งสำคัญเราหวังว่าการทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จะช่วยให้นิสิตได้เปิดมุมมองและทัศนคติใหม่ ๆ รวมถึงเกิดการตั้งคำถามกับมาตรากฎหมายบางประการที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการเรียนในแล็บเป็นการเรียนจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีสภาพแวดล้อม ที่ตำราหรือการเรียนในห้องไม่สามารถหยิบยกหรือสร้างขึ้นมาให้ได้ ในห้องเรียน เราเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ศาล มีหน้าที่และบทบาทอย่างไร ควรทำแบบไหน อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น อย่างคดีทางการเมืองซึ่งว่าตามกฎหมายแล้ว จำเลยหรือผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และเมื่อยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนผู้ที่ถูกศาลตัดสินหรือได้รับการปฏิบัติแบบนักโทษ แต่ที่เกิดขึ้น จำเลยใช้ชีวิตทุกอย่างในเรือนจำเหมือนนักโทษ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ” อาจารย์ ดร.พัชร์ กล่าว

สำหรับทิศทางการเรียนการสอนกฎหมายในอนาคต

การดำเนินการโครงการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นิสิตเกิดการตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวเนื่องด้วยข้อกฎหมาย และเกิดความตระหนักในการร่วมปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเด็น    ต่าง ๆ รวมถึงเห็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับความเข้าใจให้คนในสังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชน อาทิ เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมาย ร่างกฎหมายใหม่ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในขณะนั้น ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ

“เราจะพัฒนาตัวแล็บไปเรื่อย ๆ โดยจะเน้นประเด็นที่เป็นลักษณะเฉพาะให้มากขึ้น เช่น Anti-SLAPP Law เราเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้เฉพาะเรื่องนั้นดีกว่า ตอนวิเคราะห์จะได้ผลชัดเจนกว่า” อาจารย์ ดร.พัชร์ กล่าวถึงแนวทางของโครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชนในอนาคต

นอกจากโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” แล้ว คณะนิติศาสตร์ยังมีห้องเรียนปฏิบัติการอีกหลายโครงการ เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสหาประสบการณ์ทางด้านกฎหมายหลากหลาย อาทิ ห้องปฏิบัติการกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้องปฏิบัติการกฎหมายสำหรับ Startup ห้องปฏิบัติการกฎหมายการสืบสวนสอบสวนยุค 5G