วันที่ 11 ม.ค.2566 ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียน สพฐ. ระดับประเทศ ประจำปี 2566 สภานักเรียน สพฐ.สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย พร้อมกล่าวว่า กิจกรรมสัมมนาสภานักเรียน เป็นเวทีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวแทนสภานักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดละ 1 คน พร้อมครูที่ปรึกษาสภานักเรียนจังหวัดละ 1 คนเข้าร่วม ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 14 มกราคม 2566 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคารพในสถาบันหลัก เข้าใจความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นเวทีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง แลกเปลี่ยนแนวความคิด และได้รับประสบการณ์ในการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมของตัวแทนนักเรียน ในการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ อีกทั้งยังเป็นวาระของการคัดเลือกประธาน และคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศด้วย

 

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตระหนักถึงพลังของเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญ ในการนำพาสังคม และประเทศชาติให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง มั่งคง และเป็นภารกิจหลักของ ศธ.ในการทำให้เด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นคนดี และคนเก่ง เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ มีความรู้ความเข้าใจถึงรากฐานประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญในการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศให้มีความสามารถทางการแข่งขันในเวทีนานาชาติ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ศธ.มีนโยบายการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบ คิด วิเคราะห์ ไม่เน้นการท่องจำ นอกจากนี้ศธ.ยังมุ่งเน้นในมิติสำคัญต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนในการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน การเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกปัจจุบัน เป็นต้น

 

“ การอบรมสัมมนาสภานักเรียนในครั้งนี้ ศธ.อยากรับฟังความเห็นน้องๆสภานักเรียน ที่เป็นตัวแทนของเพื่อนนักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง  มาสะท้อนข้อคิดเห็นในทุกมิติของทางการศึกษา ทั้งในทางกว้าง และทางลึกถึงแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมว่า ควรมีรูปแบบเรียนการสอนอย่างไร การเรียนวิชาประวัติศาสตร์อย่างไรควรมีรูปแบบใดบ้าง มีการประเมินผลอย่างไร รวมถึงข้อคิดเห็นต่างๆในบริบทของการศึกษา เพื่อให้การศึกษาไทยได้รับการยกระดับคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเห็นต่างๆที่เกิดขึ้นจากการอบรมสัมมนานี้ น้องๆที่เป็นผู้แทนสภานักเรียนสามารถนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ ในวันที่ 14 มกราคมนี้ ซึ่ง ศธ.จะนำคณะสภานักเรียนเข้าคารวะและรับฟังโอวาทจากนายกรัฐมนตรี ดิฉันขอขอบคุณ สพฐ.และวิทยากรทุกคนที่ได้นำองค์ความรู้และทักษะสำคัญ มาเพิ่มเติมให้แก่ตัวแทนสภานักเรียนทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของเด็กนักเรียนไทย รวมถึงนำไปสู่การขยายผลสู่ระดับโรงเรียนในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ” นางสาวตรีนุช กล่าว.

​​​​​​​