ครม.เห็นชอบเอกสารการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ต่อศูนย์มรดกโลกพิจารณาก่อน 31 ม.ค.นี้

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีการพิจารณาเห็นชอบเอกสารการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ต่อศูนย์มรดกโลกพิจารณาก่อนวันที่ 31 ม.ค. นี้ เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 46 ทั้งนี้มีเกณฑ์การพิจารณาคุณค่า ประกอบด้วย เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน เป็นตัวแทนของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ตั้งของแหล่งวัฒนธรรมสีมา ที่พบกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มากกว่า 100 แห่ง แต่เฉพาะที่แหล่งมรดกวัฒนธรรมทั้ง 2 แห่งนี้ ได้พบแหล่งวัฒนธรรมสีมาที่ตั้งอยู่บนภูเขาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และทวีปเอเชีย แหล่งวัฒนธรรมสีมาเป็นการผสมผสานความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กับการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยใช้หลักหิน หรือสีมา ปักล้อมรอบเพิงหิน และที่สำหรับประกอบพิธีกรรม 

เกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้างหรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่าย เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งยังพบว่าคนในชุมชนนี้ นอกจากยอมรับนับถือพุทธศาสนา ราวศตวรรษที่ 13 – 14 และนำมาผสมผสานกับ คติความเชื่อเดิมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และเพิงหินศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการปรับเปลี่ยนและดัดแปลงเพิงหินในลักษณะต่างๆ กัน ด้วยการสกัดหินให้สามารถใช้เป็นที่พักหรือพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับคติความเชื่อในวัฒนธรรมสีมา

“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น เป็นแหล่งภูมิทัศน์วัฒนธรรม ถือว่ามีความโดดเด่นเรื่องการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ในการปรับใช้พื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อของพุทธศาสนา มีความเป็นของแท้และดั้งเดิมสูงมาก ทั้งสถานที่ตั้ง รูปแบบ และวัสดุที่ใช้ล้วนเป็นของแท้และดั้งเดิม ถึงแม้จะผ่านช่วงเวลามานับพันปี แต่ไม่ได้รับการรบกวน มีสภาพแวดล้อมของแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนภูเขา แวดล้อมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ โดยได้รับการปกป้องคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมป่าไม้ และกรมศิลปากร ทั้งนี้เอกสารการนำเสนออุทยานฯ ภูพระบาทมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จึงมั่นใจว่าจะสามารถได้รับการพิจารณาและประกาศเป็นมรดกโลกได้อย่างแน่นอน” รมว.วัฒนธรรม กล่าวอย่างมั่นใจ