สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

ไทยและจีนนั้น มีความผูกพันกันมาแต่โบร่ำโบราณ ตั้งแต่ในราวปี พ.ศ.500 และต่อเนื่องเรื่อยมาทุกยุคสมัย จนเกิดการหลอมรวมเข้าด้วยกันจนแทบแยกไม่ออก การมีความสัมพันธ์ทางครอบครัว มีลูกมีหลานสืบต่อกันมา ต้องยอมรับกันว่าแม้จะมีคำแบ่งแยกออกมาเป็น คนไทย คนจีน และคนไทยเชื้อสายจีน แล้วก็ตาม เอาเข้าจริงยังไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้เลยว่า ‘ใครคือใคร’ ถ้าไม่ลงลึกไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา แต่ถึงกระนั้น ด้วยความผูกพันที่มีต่อกันมายาวนาน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดังกล่าวก็ยังถูกหลอมรวมได้เช่นกัน อย่างเช่น วันตรุษจีนที่ชาวจีนจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ คนไทยเองก็นับเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่ได้จัดพิธีกรรมในการไหว้ศาลพระภูมิและเจ้าที่เจ้าทางของตนด้วยเช่นกัน หมายรวมไปถึง ‘คติความเชื่อ’ ของจีนและไทยนั้น ก็ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งจนบางครั้งไม่อาจแยกว่า แบบไหนเป็นไทย แบบไหนเป็นจีน กระทั่งเรื่องของพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งในบางครั้งไม่อาจแยกทำเพียงอย่างเดียวได้ จำเป็นต้องมีทั้งสองพิธีกรรม จึงจะถือว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์แบบ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์

ที่เกริ่นนำมาทั้งหลายทั้งมวลนี้ ก็เพื่อสื่อถึงการสร้างวัตถุมงคลของไทย ซึ่งมีการนำรูปลักษณ์ของจีนเข้ามาเกี่ยวพันในหลากหลายรูปแบบ ขอยกตัวอย่างวัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดหลวง อย่าง วัดบวรนิเวศวิหาร ที่เรียกว่าได้รับความนิยมอย่างสูงและมีค่านิยมสูงมาก ก็คือ เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น หรือ 18 อรหันต์ และ เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบที่ 2 หรือ เหรียญมือ ซึ่งนอกเหนือจากความสำคัญในการจัดสร้างและพุทธาคมที่ปรากฏแล้ว รูปแบบของเหรียญยังโดดเด่นด้วยการผสาน 2 เชื้อชาติอยู่ในเหรียญเดียวอีกด้วย                                    เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น เป็นเหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่า ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระราชพิธีโบราณของชาติไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2434 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เนื่องในพระราชพิธีทรงพระผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 5) ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น

 “เมื่อ พ.ศ. 2434 ทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร เปนการใหญ่ มีสมโภชแลแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วฉลองที่นั่น แต่ในคืนนั้น เสด็จประทับแรม ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม บ่ายแห่งวันรุ่งขึ้น เสด็จมาประทับวัดนี้ เสด็จอยู่ที่พระปั้นหยา ออกพรรษาแล้ว ทรงถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบัพพ์ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทำสำเภาเป็นกัณฑ์เทศน์ ทรงผนวชอยู่ 5 เดือน ลาผนวช”

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น

มีการจัดสร้างเป็น เนื้อเงิน เนื้อเงินกะไหล่ทอง และเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายเหรียญอีแปะเงินของจีนโบราณ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร ด้านหน้า จำลองรูป พระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน ซึ่งเรียกว่า “จับโป้ยล่อฮั่น” ด้านหลัง มีอักษรไทยที่เขียนลักษณะเลียนแบบอักษรจีน ถ้าอ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า "การทรงพระผนวช" ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ "ส, พ, บ, ร, อ," ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี “ปี ร.ศ.๑๑๐”

ประการสำคัญ คือ เข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับ ‘พระกริ่งปวเรศ’ อันลือเลื่อง ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก เหรียญมือ

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบที่ 2 อันว่า "เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก” นั้น มีการจัดสร้างด้วยกัน 2 แบบ ตามหนังสือ "เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2525" ที่จัดพิมพ์โดย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้กล่าวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเหรียญโดยสรุปว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกใน "พระราชพิธีมหาสมณุตตมาภิเศก" เลื่อนพระอิสริยยศของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 ดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต โดยมีการจัดสร้างขึ้น 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เรียกว่า "เหรียญปวเรศ" หรือ "เหรียญบาตรน้ำมนต์" และ แบบที่ 2 เรียกว่า "เหรียญมือ"

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก เหรียญมือ

สำหรับ “เหรียญแบบที่ 2” ที่กล่าวอ้างถึง หรือ "เหรียญมือ" นั้น สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นรางวัลเครื่องโต๊ะ ลักษณะเป็นเหรียญเนื้อทองแดง รูปไข่ เจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง กว้าง 44 มิลลิเมตร ยาว 55 มิลลิเมตร  รูปแบบของเหรียญทำตามแบบคติของพุทธศาสนามหายานของจีน เช่นเดียวกับ "เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น" ซึ่งเข้าใจว่า "มือ" น่าจะเป็นพระหัตถ์ปางต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ตามแบบคติมหายาน อันเป็นปริศนาธรรม และอาจเป็นเพราะมีรูปมืออยู่หลายมือ จึงเป็นที่มาของชื่อเหรียญ ด้านหน้า รอบเหรียญเป็นรูปมือ ด้านซ้ายเป็นรูปมือขวาแบมือ ด้านขวาเป็นรูปมือซ้ายแบมือ มีด้านละ 4 มือ โดยแสดงท่านิ้วมือต่างๆ กัน ตรงกลางตอนล่างเป็นมือซ้ายแบมือเหยียดนิ้วตรงทั้ง 5 นิ้ว รวมทั้งหมดมี 9 มือ เหนือรูปสี่เหลี่ยมเจาะรูยกขอบจะเป็นฉัตรตาดขาว 5 ชั้น มีระบาย 2 ชั้นขอบระบายติดแถบ ด้านหลัง เป็นอักษรไทยประดิษฐ์เลียนแบบตัวอักษรจีน (เหมือนกับอักษรใน "เหรียญจับ โป้ยล่อฮั่น" หรือ "18 อรหันต์" ที่จัดสร้างในปีเดียวกัน) อ่านจากด้านบนลงล่างความว่า "มหาสมณุตตมา" อ่านจากขวามาซ้ายว่า "ภิเศก ร.ศ.๑๑๐"

เหรียญปวเรศ หรือ เหรียญบาตรน้ำมนต์

ทั้งสองเหรียญนี้ นับเป็นเหรียญเก่าแก่ของวัดบวรนิเวศวิหาร อันทรงคุณค่าทั้งวัตถุประสงค์การจัดสร้าง พุทธคุณ กอปรกับลักษณะแม่พิมพ์ที่โดดเด่นแปลกตาและผสานรูปแบบ 2 เชื้อชาติได้อย่างงดงามมาก จึงเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมกัน แต่ด้วยจำนวนการจัดสร้างไม่มากนัก และมีของทำเทียมเลียนแบบกันมาเนิ่นนาน ปัจจุบันจะหาดูเหรียญแท้ๆ สักเหรียญยังยากยิ่งนักครับผม