มรภ.สวนสุนันทา ผลักดันร้านอาหารริมบาทวิถี ยกระดับสู่เส้นทางอาหารเมืองกรุง ส่งเสริมการท่องเที่ยวอินเตอร์

วันที่ 30 ม.ค.66 นางสาวอทิตยา บัวศรี ผู้จัดการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิจัยโครงการย่อย ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Fund) ประเภท Basic Research Fund ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้กล่าวถึงชุดโครงการวิจัยในชื่อ เรื่อง นวัตวิถีอาหารสตรีทฟู๊ดสู่การส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเมืองกรุงเทพมหานครเพื่อการท่องเที่ยวระดับโลกว่า กรุงเทพมหานคร เป็นสวรรค์แห่งอาหารริมทาง หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องจากปี 2561 (ที่มาสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยประเภทอาหารที่หลากหลาย​ กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่หลงไหลในอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจร้านสตรีทฟู๊ดจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร พัฒนาสมรรถนะด้านการขาย การบริการ​ ภาษาเพื่องานขาย ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานอาหาร​ ความสะอาดและความปลอดภัย การออกแบบ การจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยการรักษาอัตลักษณ์​ และมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการจัดการตลาดดิจิทัลด้วยระบบการตลาดอัจฉริยะ เพื่อสร้างรายได้รองรับการเกิดวิกฤตในอนาคต

ดั่งเช่น ภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 แล้วภาครัฐมีประกาศ Lockdown เพื่อให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ภายในบ้าน ความต้องการสั่งซื้ออาหารเพื่อการบริโภคจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ผู้ประกอบการเองก็ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถขายสินค้าได้เช่นกัน​ เนื่องจากเข้าไม่ถึงระบบการตลาด การกระตุ้นให้เกิดการรับรู้รวมทั้งพฤติกรรมการซื้อ รวบรวมพฤติกรรมการซื้อ รวมทั้งข้อมูลร้านอาหารสตรีทฟู๊ดที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครไว้ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) คู่ขนานกับการบริหารจัดการ​ การมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ การจัดระเบียบร้านอาหารสตรีทฟู๊ดของกรุงเทพมหานคร จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารสตรีทฟู๊ดสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยและกรุงเทพมหานครรวมทั้งสร้างรายได้จากการลงทุนที่ไม่สูงสู่สวรรค์แห่งอาหารริมทางอย่างยั่งยืนแม้ในยามที่เกิดวิกฤต  

อย่างไรก็ตาม​ จากงานวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินการสำรวจสร้างเส้นทางแนะนำร้านอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และฝั่งธนบุรี โดยมีเส้นทางแนะนำ 3​ เส้นทาง​ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสตรีทฟู้ด เส้นทางละ 10 ร้านค้า​ อาทิ​ ร้านผัดไทย, ข้าวมันไก่, ส้มตำ-ไก่ย่าง, กวยเตี๋ยว, หอยทอด คั่วไก่ เป็นต้น​

เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสตรีทฟู้ด ขนมหวาน 2 เส้นทาง และ​ Application ที่ใช้ประกอบกับธุรกิจอาหารสำหรับร้านอาหารริมบาทวิถี จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดผลสะท้อนที่ผู้ประกอบการ ตัวแทนชุมชน และเยาวชน ให้สามารถนำความรู้ภูมิปัญญาด้านอาหารนำสู่การตลาดในรูปแบบสตรีทฟู้ดเพื่อเป็นช่องทางการพัฒนาเป็นอาชีพได้ โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ปลอดภัยและสังคมอยู่ดีมีสุข เกิดความยั่งยืน​ ผู้ผลิต/ชุมชน/ผู้สนใจประกอบอาชีพอิสระได้ความรู้และเกิดประสบการณ์ในการเริ่มต้นการประกอบธุรกิจโดยสามารถศึกษาความเป็นไปได้ด้านการผลิต การตลาด และด้านอื่นๆ เพื่อเริ่มต้นการประกอบธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ