สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

นางอรอนันต์ วุฒิเสน ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)  เปิดเผยถึงการจัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนแนวพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้และได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์เสมอมา

สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนองพระราชดำริโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่องค์ความรู้จากแนวพระราชดำริตลอดจนผลสำเร็จจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เกิดความยั่งยืน จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สู่สังคมอย่างกว้างขวางต่อไป

“สื่อมวลชนเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะช่วยเผยแพร่แนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการต่างๆ จึงนำสื่อมวลชนมาดูว่าโครงการเหล่านี้มีผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง เพื่อสื่อมวลชนจะได้นำไปบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ ต่อไป” นางอรอนันต์ วุฒิเสน กล่าว

นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการนำสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 80,000 บาท ใช้เริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ปีแรกใช้ไปเพียง 40,000 บาท และประสบผลดี พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 300,000 บาท ต่อมามีพระราชกระแสรับสั่งว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริงอย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน” ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้เพิ่มภารกิจครอบคลุมไปถึงการพัฒนาไม้ดอกไม้ผลด้วย ในปี 2537 สำนักงาน กปร. จัดให้โครงการฯ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จวบจนทุกวันนี้ “ตลอดมาทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาพันธุ์พืชควบคู่ไปกับการศึกษาทดลองและวิจัยเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก เช่น เทคโนโลยีการผลิตพืชกลุ่มกระเจียวและปทุมมา เทคโนโลยีการผลิตแกลดิโอลัส เทคโนโลยีการผลิตว่านสี่ทิศ พร้อมสนับสนุนชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจผลิตไม้ดอกเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมพร้อมสนับสนุนพันธุ์ไม้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง และให้การสนับสนุนกลุ่มฯ ที่ผลิตพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลได้ทราบข้อมูลการตลาดของพืชนั้น ๆ แบบต่อเนื่องอีกด้วย” ผอ.กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร. กล่าว

พร้อมกันนี้คณะสื่อมวลชนยังได้เข้าเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) ซึ่งดำเนินโครงการโดยสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สนองงานตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และรวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีจากทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และนำคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันโครงการฯ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและจำหน่ายกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์ของโครงการ สามารถสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากจากประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีเป็นการขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โอกาสนี้คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง  จ.เชียงใหม่  ซึ่งเป็นป่าที่ได้รับการฟื้นฟูจนมีความอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการนำกล้วยไม้รองเท้านารีจากการขยายพันธุ์มาปล่อยในพื้นที่ป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นน้ำป่าดิบชื้นดอยอินทนนท์ หนึ่งในสายน้ำแม่น้ำปิง ที่มีความสมบูรณ์ของป่าสามชั้นของดอยอินทนนท์ คือ ไม้ชั้นบน ไม้ชั้นกลาง และไม้ชั้นล่างตลอดถึงไลเคน ในลักษณะต่าง ๆ ในระดับความสูงบริเวณโคนต้นไม้ และไม้ล้มนอนไพร  ตลอดถึงทุ่งหญ้าบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นหน้าผาที่กวางผาออกหากิน

“การเดินทางทัศนศึกษาบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มราษฎรที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาป่าดอยอินทนนท์ เป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลแก่คณะสื่อมวลชนในการป้องกันไฟป่า การปลูกต้นไม้หายากทดแทนในพื้นที่ป่า ตลอดถึงการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าดอยอินทนนท์  นับว่าเป็นประโยชน์ที่ราษฎรในท้องถิ่นได้รับขณะที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์และได้รับการดูแลเป็นอย่างดีในปัจจุบัน” นางอรอนันต์ วุฒิเสน กล่าว