ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : นิทรรศการมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีในรูปแบบดิจิทัลเสมือนจริง เกิดจากความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี กับกรมศิลปากรของไทย แลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรม ซึ่งนิทรรศการได้จัดแสดงมาระยะหนึ่ง

ครั้งนี้ (17 ก.พ. 66) มีการจัดกิจกรรม Walk and Talk THRU the Immersive Gallery of Korean Art โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย จัดกิจกรรม Education Program เรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมเกาหลีที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันผ่านนิทรรศการ “A New Encounter: Immersive Gallery of Korean Art” ซึ่งถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและพุทธศาสนาของเกาหลีผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง พร้อมการแสดง “Jindo Drum Dance”–ศิลปะการเต้นรำที่ผสมผสานการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้าด้วยกันกับการตีกลองอันเป็นเอกลักษณ์ และยังได้ร่วมกิจกรรม Hands-on ทำที่คั่นหนังสือ “Minhwa”–ศิลปะการวาดภาพลงบนกระดาษหรือบนผืนผ้าแบบดั้งเดิมจากยุคปลายโชซอน โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายมุน ซึง-ฮย็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายโจ แจอิล ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากรเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม

ในส่วนของนิทรรศการ นำมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมาจัดแสดงร่วมกับสื่อดิจิทัลให้มีบรรยากาศเสมือนจริง ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทำและอธิบายเรื่องราว ร่วมกับการแสดงประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของไทยและเกาหลี ประกอบด้วย การฉายภาพวีดีทัศน์ดิจิทัลเสมือนจริง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ได้จัดทำขึ้น จำนวน 2 เรื่อง คือ เรื่อง "การเดินทางของวิญญาณ" สร้างขึ้นจากจิตรกรรมในพุทธศาสนา "พญายมราชทั้งสิบ" และเรื่อง "กระบวนพยุหยาตราและผู้คน" โดยสร้างขึ้นจาก อึย-คเว (แบบธรรมเนียมในราชสำนัก) บันทึกทางการของราชสำนักโชซอน ซึ่งจิตรกรรมพุทธศิลป์และบันทึกทางการของราชสำนักโชซอนทั้งสองรายการ เป็นสมบัติที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี นำมาจัดทำใหม่ในรูปแบบของดิจิทัล ใช้แสงและสีที่งดงามบนจอขนาดใหญ่ และเสียงกึกก้องที่จะทำให้สัมผัสกับชีวิตในอดีต ณ เวลาปัจจุบันอย่างเต็มตา

อีกเรื่อง จัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 องค์ รูปบุคลาธิษฐานของความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ สะท้อนถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาในอดีตของเกาหลีและไทย  แม้รูปลักษณ์ ช่วงเวลาที่สร้าง และฝีมือช่างแตกต่างกัน แต่รูปเคารพทั้งสองต่างก็สื่อสะท้อนถึงผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ โดยประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะเกาหลี สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 14 ขุดพบที่วัดพงฮวังซา เมืองคยองจู สาธารณรัฐเกาหลี ส่วนพระโพธิสัตว์  อวโลกิเตศวรของไทย ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 12 – 13 พบที่ วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี

นิทรรศการศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง” (A New Encounter : Immersive Gallery of Korean Art) พุทธศิลป์ของไทยและเกาหลี ยังเปิดให้ทุกท่านเข้าชม ณ ห้อง 401 อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – อังคาร) ถึงวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ มาร่วมเรียนรู้สัมผัสประสบการณ์นิทรรศการมรดกวัฒนธรรมเกาหลีในโลกเสมือนจริงกัน