ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การมองเข้าไปในความทุกข์ของคนอื่นย่อมทำให้เรามองทะลุในทุกปัญหาของโลก

ชีวิตการเป็นนักศึกษาพยาบาลเป็นช่วงที่สนุกที่สุดในชีวิต แม้จะต้องเรียนอย่างหนัก ในสภาพที่ต้องอดทนในความ “สยดสยอง” ต่าง ๆ อย่างยิ่ง แต่ด้วยการที่ได้อยู่ ได้เรียน และ “ได้เล่น” กับเพื่อนที่รู้ใจ ทำให้ความเหนื่อยยากต่าง ๆ บรรเทาลงไปได้มาก ทั้งยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานและประทับใจไม่รู้ลืม

ใหม่ ๆ นักศึกษาทุกคนก็อยู่ในกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่พอนานเข้าการละเมิดข้อบังคับต่าง ๆ ก็เป็นความท้าทาย การแอบกินขนมในห้องเรียน การแอบปีนรั้วไปเที่ยวหลังเวลานอน แม้กระทั่งการแอบมีนัดกับ “หนุ่ม ๆ” ซึ่งบางทีก็เป็นญาติหรือเพื่อนของเพื่อน แต่ก็สร้างความบันเทิงเริงรมย์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งใกล้ ๆ ปีสุดท้าย หลายคนก็ปล่อยลวดลายในการ “เป็นตัวของตัวเอง” เหมือนจะบอกว่านี่แหละคนในวัย “ชีวิตเสรี” ก่อนที่จะออกไปทำงานต่อสู้ชีวิตที่น่าจะเป็นความบีบคั้น รวมถึงที่ไม่มีอะไรแน่นอนในอนาคต

แก้วอาจจะแตกต่างจากคนอื่น ๆ บ้าง แม้ว่าแก้วจะได้ร่วมในความสนุกสนานทั้งหลายกับเพื่อน ๆ อยู่ตลอด แต่แก้วก็ยังแบ่งหัวใจอีกส่วนหนึ่งให้กับ “คนอื่น ๆ” อย่างที่แก้วชอบทำมาโดยตลอด คือในเวลาที่ “ขึ้นวอร์ด” หรือเดินตามคุณหมอหรืออาจารย์หมอไปตรวจและติดตามอาการของผู้ป่วยตามตึกต่าง ๆ จิตใจของแก้วก็จะ “เดินเข้าไป” ในตัวตนของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นโดยอัตโนมัติ เหมือนอยากจะรู้ว่าเขามีความเจ็บปวดทรมาน ตรงไหน อย่างไร รวมถึงที่อยากจะรับเอาความทุกข์ทรมานเหล่านั้นแบ่งมาให้กับตนเอง ด้วยคิดว่าบางทีตนเองอาจจะรับเอาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเหล่านั้นมาไว้กับตัวเองได้บ้าง

แก้วชอบไปนอนเฝ้าผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาแพทย์ก็ทำกันเป็นการหารายได้เสริม แต่บางทีแก้วก็อาสาไปช่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีญาติและอนาถา หลายครั้งแก้วต้องร้องไห้ไปกับผู้คนที่น่าสงสารเหล่านี้ แทบทุกคนมีชีวิตที่ยากจนข้นแค้นจริง ๆ แต่บางคนก็เคยร่ำรวยและมีชีวิตที่หรูหรา แต่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนจนสิ้นเนื้อประดาตัว หรือไม่ก็ลูกหลานไม่อยากจะเอาทรัพย์สินมรดกมาทุ่มเทรักษาอีกต่อไป จึงได้เอามาไว้ที่แผนกผู้ป่วยอนาถา ในขณะที่สิทธิการรักษาพยาบาลแม้แต่ในโรงพยาบาของรัฐในเวลานั้นก็ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน โดยในแผนกผู้ป่วยอนาถานั้นก็คือที่ที่จะเอาผู้ป่วยมารอวันตายนั่นเอง

ในวันที่แก้วรับปริญญา แก้วมีความรู้สึกทั้งดีใจและหวาดหวั่นใจ ที่ดีใจก็คือดีใจในความสำเร็จและภาคภูมิใจในความบากบั่นพยายาม ยิ่งได้มองเห็นใบหน้าของญาติพี่น้องที่มาร่วมยินดีก็ยิ่งมีความสุข แต่อีกใจหนึ่งก็มีความหวาดหวั่น เพราะไม่รู้ว่าโลกภายนอกวิทยาลัยจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน ๆ มาตลอด 4 ปีอย่างสนุกสนาน รวมถึงทั้งที่ได้รับรู้มาตลอดว่าชีวิตข้างนอก รวมถึงที่โลกภายนอกทุกอย่างนั้น มีแต่ความทุกข์ยากและน่าสะพรึงกลัวเป็นยิ่งนัก

แก้วได้บรรจุงานในแผนกพยาบาลที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารที่พ่อของแก้วเป็นผู้จัดการสาขา บางทีอาจจะเป็นนโยบายของทางธนาคารที่จะอนุเคราะห์รับลูกหลานของบุคลากรเข้าทำงาน ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบแทนความขยันขันแข็งและซื่อสัตย์ของพนักงาน อีกส่วนหนึ่งเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่จะให้คนที่รับเข้ามาใหม่ยังคงสืบทอดความขยันขันแข็งและความซื่อสัตย์นั้นต่อไป

ด้วยความเป็น “เด็กใหม่” แก้วได้กลายเป็นจุดสนใจในห้องพยาบาล หนุ่ม ๆ ร่ำลือถึงความสวยสดน่ารักของพนักงานประจำห้องพยาบาลคนใหม่ บางคนเทียวไปเทียวมาแทบทุกอาทิตย์ ด้วยอาการสารพัดโรคที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ปวดหัวลงไปจนถึงเล็บเท้าขบ เพียงเพื่อจะได้มาคุยสัก 2-3 นาที จนถึงขอนัดทานข้าว นัดไปดูหนัง และไปเดินเล่น ซึ่งแก้วก็ไม่ได้คิดเล่นตัวอะไร เพียงแต่อยากทำงานให้ดี และไม่อยากไปยอแยกับใคร เธอจึงไม่ได้ตอบตกลงกับหนุ่มใดง่าย ๆ และพยายามตั้งใจทำงานเพื่อไม่ให้มีเวลาไปคิดวอกแวกในเรื่องใด ๆ

แต่ว่าทุกคนก็มีจุดอ่อน จะโดยที่รู้หรือบังเอิญก็ตามที ว่าแก้วชอบช่วยเหลือและสนใจในความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้คน “นิพนธ์” พนักงานหนุ่มใหญ่มีอาการปวดท้องมาขอยากับแก้วในวันหนึ่ง หลังจากนั้นก็มาหาแก้วอีกครั้งในอาทิตย์ถัดมา บอกว่าอาการไม่ดีขึ้น โดยเที่ยวนี้พาเด็กผู้หญิงอายุสักสามขวบมาด้วย โดยแนะนำว่าเป็นลูกของตัวเอง ที่ทุกวันเขาต้องพาไปให้บ้านรับเลี้ยงเด็กดูแล แล้วไปรับกลับบ้านในตอนเย็นแต่วันนี้เขาไม่สบายเลยพามาแวะรับยาก่อน แก้วรู้สึกถูกชะตากับเด็กคนนี้มาก จากวันนั้นเมื่อแก้วได้พบกับนิพนธ์ แก้วก็จะถามถึงเด็กคนนี้เสมอ กระทั่งรู้ว่าเด็กนี้กำพร้าแม่ แล้วในอีกไม่นานต่อมาเมื่อเด็กนี้มาพบแก้วพร้อมนิพนธ์ เธอก็พูดเสียงใส ๆ ออกมาเบา ๆ ว่า “แม่” ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก ๆ สำหรับแก้ว ที่แก้วต้องจดจำไปตลอดชีวิต เพราะมันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของแก้วไปในอีกทางหนึ่ง ในช่วงเวลาที่แก้วยัง “อ่อนโลก” มาก ๆ เมื่อตอนนั้น

แก้วได้ฟังเรื่องเล่ามากมายจากนิพนธ์ เรื่องที่เขาไปพบแม่ของเด็กหญิงที่ฟิลิปปินส์ ตอนนั้นเขาทำงานที่ธนาคารนี้ได้สักเจ็ดแปดปีแล้ว ต่อมาเขาก็ได้รับทุนไปอบรมเกี่ยวกับธุรกรรมของระบบธนาคารสมัยใหม่ ได้รู้จักแม่ของเด็กที่เป็นผู้มาอบรมเช่นกัน แล้วก็เกิดตั้งท้องด้วยความพลาดพลั้ง เขาพาแม่ของเด็กหญิงมาที่น่านบ้านพ่อแม่ของเขาเพื่อตั้งต้นชีวิตครอบครัว แต่พอคลอดเด็กหญิงแล้วแม่ของเด็กก็หนีกลับไป แม่ของเขาได้ช่วยเลี้ยงอยู่มาจนสามปีนี้ แต่แรกเขาคิดว่าจะเอาลูกมาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่คงจะลำบากสำหรับเขาที่จะต้องกระเตงลูกไปไนต่อไหนด้วยทุกวัน เขาเลยกำลังจะขอย้ายไปที่น่านหรือสาขาภาคเหนือใกล้ ๆบ้าน

แก้วตกลงแต่งงานกับนิพนธ์ในปีแรกที่รู้จักกับเขานั่นเอง เธอต้องลาออกจากงานที่ธนาคารด้วยความเต็มใจ ด้วยความฝันถึงชีวิตครอบครัวอันอบอุ่น แต่เธอก็ไม่ทิ้งวิชาชีพที่เธอเรียนมา เธอไปสอบเข้าเป็นพยาบาลของโรงพยาบาลประจำจังหวัด เธอได้ทำงานที่เธอรัก และได้อยู่กับครอบครัวที่เธอฝัน โดยที่เธอไม่รู้ต่อมาเลยว่ามันจะสร้างความยุ่งยากให้กับเธอเพียงใด เพียงเพราะ “ฝันลม ๆ แล้ง ๆ” ที่ผู้ชายลวงโลกคนหนึ่งแต่งขึ้น

ที่น่านในตอนนั้นเป็นพื้นที่สีแดง มีการสู้รบปราบปรามคอมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ทุกวันจะต้องมีการขนส่งทหารบาดเจ็บมารับการรักษาที่โรงพยาบาลน่าน มากที่สุดถึงวันละ 20-30 คนก็มี เฮลิคอปเตอร์บินลงในสนามหน้าโรงพยาบาลตลอดวัน แก้วรู้สึกว่าเป็นงานที่เธอมีความรู้สึก “อิ่มใจ” มาก เพราะแม้จะมีงานหนักมากและน่าสยดสยองมากในอาการที่ทหารเหล่านั้นบาดเจ็บมา แก้วก็รู้ว่าชีวิตทหารเหล่านั้นมีค่ามาก แก้วจึงทุ่มเททำงานจนไม่รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อย แต่นั่นก็เหมือนว่าไปขัดกับความต้องการของใครบางคน ที่อยากให้แก้วมาเป็น “แม่บ้าน” ซึ่งที่สุดแก้วก็แพ้ต่อความต้องการดังกล่าว เพราะเธอเองก็ต้องตั้งท้องและมาดูแลครอบครัวให้มากขึ้น ไม่เพียงแค่ 1 คน แต่พออีก 2 ปีต่อมาก็มีลูกตามมาอีก 1 คน ทั้งคู่เป็นเด็กหญิง รวมว่าบ้านนี้ก็มีเด็กหญิงอยู่ในบ้านให้แก้วดูแลถึง 3 คน กระนั้นแก้วก็ไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพียงแต่ไม่เข้าใจในความต้องการของนิพนธ์ ถึงขั้นที่จะให้เธอลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านอย่างเดียว

วันหนึ่งเธอก็มาคิดได้ ว่าเธอน่าจะตกเป็นเหยื่อของความเห็นแก่ตัวของคนใกล้ตัว ที่เธอจะต้องวางแผนหาทางเอาตัวรอด ไม่เพียงเฉพาะเพื่อตัวเธอ แต่รวมถึงอนาคตของเด็กนั้นด้วย