รายงาน : บ้านกูแบสีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ผ่านเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ทั้งหมู่บ้าน หลังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน  กปร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และทรงเยี่ยมราษฎร รับทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรเป็นเวลานาน รวมถึงยังขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภคในช่วงหน้าแล้ง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งให้ดำเนินการศึกษาในภาพรวมทั้งระบบ เมื่อศึกษาภาพรวมทั้งระบบได้แล้วให้ดูว่าส่วนใดควรแก้ไขอย่างไร โดยขอให้ดำเนินการแก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ และทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นางดวง ช่วยเมือง ราษฎรบ้านกูแบสีรา และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 4 ต.กอลำ หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการบอกถึงการดำรงชีพภายหลังจากมีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่แบบครบวงจรว่า จากที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อการทำกินได้ เปลี่ยนแปลงมาเป็นความสมบูรณ์ประกอบอาชีพได้ ได้รับผลผลิตที่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “ที่บ้านทำนา ทำสวน ส่วนข้างบ้านปลูกพืชผักในกระสอบเพราะพื้นที่มีน้อย ปลูกพริก 50 ต้น เก็บขายได้ 3,000 กว่าบาทต่อรอบการปลูก ปลูกแบบปลอดสารพิษไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยหมัก โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินเข้ามาอบรมให้ความรู้โดยใช้ทะลายปาล์มกับสารเร่ง พด. และใช้มูลไก่ ทำให้ประหยัดต้นทุนในการเพาะปลูกได้มาก รายได้ก็เพิ่มขึ้น”

ขณะที่ นายมะยะโก๊ะ บือแน อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกอลำ เปิดเผยว่า บ้านกูแบสีราเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากร 370 คน 78 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในจังหวัดปัตตานี มีผ่านเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เพียง 3 ครัวเรือน นอกนั้นตกเกณฑ์หมด หลังจากได้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมาสำรวจสภาพพื้นที่ จากนั้นมีการพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างระบบน้ำแบบคลองใส้ไก่ส่งน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกของราษฎรได้อย่างทั่วถึง และช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ การศึกษา สาธารณสุข และคมนาคม ทำให้ชาวบ้านตำบลกูแบสีราได้รับการพัฒนานาอย่างครบวงจร

“ที่นี่พื้นที่เหมือนกับแอ่งกระทะ เป็นที่ลุ่มทำให้เกิดน้ำท่วมขัง แต่เมื่อมีระบบการระบายน้ำที่ดีก็มีการทำการเกษตร ปลูกพืชผัก ปลูกผลไม้ ปลูกยางพาราได้ เมื่อก่อนการคมนาคมลำบากถนนเดิมเป็นลูกรังแต่ปัจจุบันมีถนนลาดยางหมดแล้ว ซึ่งในอดีตประชากรส่วนใหญ่จะจบแค่ประถมการศึกษาที่ 4 ก็จะออกไปหางานทำนอกหมู่บ้าน แต่ตอนนี้ทุกคนได้เรียนต่อจนจบภาคบังคับแล้ว บางรายก็เรียนต่อจนจบปริญญาตรี อีกส่วนก็เป็นบัณฑิตอาสามาช่วยทำงานด้านต่างๆ ในหมู่บ้าน เศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาก จากที่ทั้งหมู่บ้านผ่านจปฐ.เพียง 3 ครัวเรือน ปัจจุบันผ่านเกณฑ์หมดทั้งหมู่บ้าน เมื่อมีการศึกษา มีความรู้เรื่องการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 40,000 บาทต่อปี”

ด้าน นางสาวฟาตือเมาะ บาแหะ ประธานกลุ่มพัฒนาบ้านกูแบสีรา เผยว่าปัจจุบันสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จนเหลือบริโภคภายในครัวเรือน จึงนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงขายกิโลกรัมละ 25 บาท หากขายเป็นข้าวเปลือกจะได้เพียงกิโลกรัมละ 12 บาท ขณะเดียวกันทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพฝึกอบรมการถนอมอาหาร แปรรูปอาหารชนิดต่างๆ ให้ทั้งเพื่อบริโภคและจำหน่าย อาทิ การทำข้าวยำ ทำน้ำบูดูแกงขี้เหล็ก และซุบไก่ “ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีความสุขมากในตอนนี้”

ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 ประกอบด้วยด้านการจัดสรรที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ การพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ เช่น ส่งเสริมเกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลผลิต รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มทำขนม กลุ่มปักผ้าคลุมผม เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมศึกษาดูงานตามโครงการต่างๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ในการทำเกษตร ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับและประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาราษฎรโดยมุ่งเน้นวิถีชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียง ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่นซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี