รายงาน : ผลสำเร็จที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงนำความเจริญไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงพสกนิกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืนบนวิถีแห่งความพออยู่พอกิน

เช่น ราษฎรที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขา อันก่อเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่มีฐานะยากจน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างได้เข้มแข็ง โดยไม่ไปบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ทรงตระหนักว่าหากไม่จัดระเบียบชุมชนให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งแล้ว ราษฎรก็จะแผ้วถางป่า ซึ่งจะส่งผลให้สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะต้องถูกทำลายลงอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังส่งผลเสียในด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศอีกด้วย

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง เป็นทั้งสถานที่แห่งการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งจากการดำเนินงานที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนาตามแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประสานงาน พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมอย่างถูกวิธีเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนการดำเนินการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ เส้นทางคมนาคม ระบบน้ำประปาภูเขา และสาธารณสุข ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรที่ดีขึ้นตามลำดับ

จากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะกรรมการในการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมเชิญถุงพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเสื้อกันหนาวให้แก่เด็กในพื้นที่ พบว่าการดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ห้วยแม่เกี๋ยง มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างหลากหลาย เพราะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น

ดังเช่น นายจะพะ จะฟะ ราษฎรชาวไทยภูเขา เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านห้วยแม่เกี๋ยง กล่าวว่า จากเดิมที่เคยปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เมื่อได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานจากสถานี จึงนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการปลูกไม้ผล เช่น อะโวคาโด มะม่วง กล้วย ใช้พื้นที่ระหว่างต้นไม้ผลปลูกข้าวไร่ ถั่วลิสง ข้าวโพด ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน ปัจจุบันมีรายได้ 176,000 บาท โดยมาจากการปลูกข้าวโพด 70,000 บาท อะโวคาโด 40,000 บาท ผลผลิตอื่นๆ 2,000 บาท และรับจ้าง 64,000 บาท สามารถส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบ และเข้ารับราชการทหารแล้ว 1 คน กำลังศึกษาอีก 1 คน นายจะพะยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ของตนโดยไม่คิดทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยอีก

นอกจากนี้สถานีฯ ยังได้พัฒนาอาชีพภาคการเกษตรจากการปลูกพืชผักไม้ผลเมืองหนาวแล้ว ยังมีการทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่เหมาะสมกับสภาพอากาศจนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งในอนาคตจะนำไปขยายผลให้ราษฎรที่สนใจเพาะปลูกต่อไป ในส่วนของการติดตามประเมินผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสำนักงาน กปร. ที่ได้มีการติดตามประเมินผลของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ทั้ง 18 สถานี ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการรวม 380,583 ไร่ หมู่บ้านเป้าหมาย 60 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนรวม 6,405 ครัวเรือน ประชากรรวม 33,228 คน

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ จำนวน 353 ตัวอย่าง พบว่าประโยชน์ที่เกิดจากการมีโครงการฯ มากที่สุดคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพราะป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยมีกิจกรรมในการอนุรักษ์ป่า เช่น กิจกรรมปลูกป่า ดับไฟป่า การทำแนวกันไฟ รองลงมาคือเรื่องคุณภาพชีวิต เนื่องจากมีสถานศึกษาภายในหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียงเด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า การคมนาคมที่สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีและสะดวกสามารถเข้าถึงการบริการได้ทันท่วงที มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดปี ด้านความมั่นคงในการประกอบอาชีพ พบว่าหนี้สินของครอบครัวลดลง มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว และนี่คือผลสำเร็จของการพัฒนาตามพระราชดำริที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ได้นำมาปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยง อำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูงและที่ราบลุ่มในเมืองใหญ่ รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ แหล่งผลิตพืชเมืองหนาวที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศนำรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง