วันที่ 7 มีนาคม 2566 จากกระแสภาพยนตร์ไทย"ขุนพันธ์ 3"ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงการแสดงสมบทบาทของตัวเอกในเรื่อง จึงทำให้ 'สยามรัฐออนไลน์'ย้อนกลับไปส่องกรุ 5 ของขลังคู่กายมือปราบขมังเวทแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ที่เหล่าโจรในตำนานต่างเกรงกลัว

สำหรับ ขุนพันธ์ ที่โด่งดังในเรื่องเครื่องรางของขลังนี้ เป็นนายตำรวจชาวนครศรีธรรมราชที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ นามจริง คือ บุตร พันธรักษ์ หรือ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 เจ้าของฉายาหลายหลายชื่อ ทั้ง มือปราบจอมขมังเวทย์’ ตำรวจหนังเหนียว และ ขุนพันธ์ดาบแดง โดยขุนพันธ์เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2549 อายุรวม 108 ปี ซึ่งน่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ขุน’ คนสุดท้ายของประเทศ

ซึ่งเรื่องราวของขุนพันธ์ฉบับภาพยนตร์ ถูกแต่งเติมมาจากเค้าโครงเรื่องจริงที่ได้รับการบันทึกและบอกเล่าต่อกันมา โดยเฉพาะวีรกรรมปราบ ‘เสือ’ หรือโจรผู้ร้ายในสมัยก่อน ทั้งเสือผ่อน เสือฝ้าย เสือสาย เสื้อเอิบ เสือปลั่ง เสือใบ เสือไหว เสือมเหศวร ไปจนถึง อะแวสะดอตา หรือโจรจอมคาถาแห่งเมืองนราธิวาส เรียกว่านายตำรวจคนนี้เดินทางทั่วสยามเพื่อปราบชุมโจรให้ราบคาบ และดำรงความยุติธรรมให้คงอยู่ในรูปแบบที่ยุคสมัยนั้นอนุญาต คือการ "จับตาย"

ทั้งนี้ ขุนพันธรักษ์ราชเดช เคยเปิดเผยเรื่องราวของเครื่องรางของขลังที่ใส่ติดตัวยามออกปราบโจรจนทำให้แคล้วคลาดภัยอันตรายต่าง ๆ ได้แก่ 

1. พระปรุหนังอยุธยา ท่านแขวนเป็นพระองค์ประธาน ของพระเครื่องอีกหลายองค์ในสร้อยคอเส้นเดียวกัน ถึงแม้ว่าท่านจะเกษียณแล้ว ก็ยังใส่ติดตัวเสมอมา

2. หลวงปู่ทวด วัดช้างให้

3. พระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดทอง

4. พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า

5. ตะกรุดของพระคูกาชาด ย่อง วัดวังตะวันตก

 

ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจากเพจเฟซบุ๊กขุนพันธ์