ทันทีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศ เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566  เพื่อเข้ากระบวนการสรรหาตามขั้นตอนในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน “นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการ ททท.คนปัจจุบัน ที่กำลังจะครบสัญญาจ้างภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นผลทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในองค์กร ด้วยมีรายงานจากสายข่าวภายใน ททท.ว่า จะมีผู้บริหารภายในองค์กรสนใจจะยื่นใบสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.คนใหม่อย่างน้อยประมาณ 2-3 คน โดยทั้งหมดล้วนแล้วแต่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารขั้นสูงขององค์กร และมีคุณสมบัติตามกรอบมาตรฐานของผู้ที่จะลงสมัคร เพื่อเข้ากระบวนการสรรหาทุกประการ

 คนนอก หรือ คนในที่ต้องการ

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคนอยู่ในตำแหน่งเดิมจะจากไป โดยอยู่จนครบวาระ 8 ปี จึงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสอบถามกับผู้บริหารทางฝั่งผู้ประกอบการ ทั้งที่อยู่ในสมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริษัททัวร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ ททท.ถึง คุณสมบัติของ ผู้ว่าฯททท.คนใหม่ ที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ แต่กลับได้รับคำตอบบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอเป็นคนใน”

เพราะเท่าที่ผ่านมา จากที่ได้คนนอกมาเป็น “ผู้ว่าฯททท.” ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการ และเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มองว่า น่าจะเป็นผลดีอันดับแรก คือ 1.ตัดการเล่นพรรคเล่นพวกภายในองค์กรออกไป 2.ได้ผู้บริหารในองค์กรระดับสูงที่สามารถมองเห็นงานในภาพกว้าง และสามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางกลับกันเมื่อมองการทำงานในระยะ 8 ปีของผู้ว่าฯททท.ที่มาจากคนนอกนั้น ทางเอกชนท่องเที่ยวได้มองเห็นจุดด้อยโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงๆ ละประมาณ 2 ปีด้วยกัน 1.เริ่มต้นจาก 2 ปีแรกเป็นช่วงที่สร้างการยอมรับของคนในทั้งฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายสหภาพแรงงานที่พร้อมบวกตลอดเวลา เมื่อมองว่า การทำงานนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับองค์กร 2.อีก 2 ปีต่อมา เป็นการเรียนรู้งานภายในทั้งตลาดต่างประเทศ และตลาดในประเทศ ที่มีสำนักงานอยู่เป็นจำนวนมาก และมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 3.ช่วงนี้เข้าสู่ปีที่ 6 ประกอบกับเป็นสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดที่เกิดเหตุชัตดาวน์ทั้งโลก จึงทำให้ไม่มีผลงานออกมามากนัก จนสุดท้ายโค้งสุดท้ายอีก 2 ปีก่อนจะครบวาระ เป็นช่วงจังหวะที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยมีแบ่งหน้าที่การทำงานของแต่ละฝ่าย แต่ละกอง เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ซึ่งดูเหมือนว่า ในโค้งสุดท้ายช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวจากผลกระทบโควิดนี้เอง ที่ทำให้เอกชนท่องเที่ยวตกลงปลงใจกันเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ผู้ว่าฯคนนอก ไม่เคยเห็นใจ และเข้าใจผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ดูได้จากสิ่งที่ดำเนินงานทางการตลาดที่ผ่านมา ผ่านการเห็นชอบจากระดับผู้บริหารของภาครัฐ และบอร์ดการท่องเที่ยวก่อนหน้าแล้ว จึงค่อยประสานมายังผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าไปรับฟัง และปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ไม่เคยเรียกเข้าแสดงความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์ในหัวข้อที่จะนำออกมาให้ปฏิบัติแต่อย่างใด

คุณสมบัติของผู้ว่าฯในยุคฟื้นฟู

ทั้งนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ยังกล่าวถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ ททท.ที่รู้มาว่า มีคนในประมาณ2-3 คนนั้น ว่า ทุกคนล้วนแล้วมีดีกรี ประสบการณ์ที่ผ่านเวทีการทำงานทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมทั้งยังเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากบุคลากรภายในองค์กร พร้อมกันนี้ยังมีหัวก้าวหน้าทั้งในเชิงนโยบายรวม และเชิงการบริหารระดับองค์กร เพื่อเป็นแนวทางให้กับการทำงานของภาคท่องเที่ยวทั้งประเทศ

 แต่การที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ในช่วงที่ประเทศต้องการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมนั้น จะต้องมีคุณสมบัติโดดเด่น ดังนี้ อันดับแรก จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการประสานงานทั่วทุกสารทิศ ทุกเวทีที่ต้องการให้ภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเหลือ 2.สามารถบริหารงานงานได้ทันต่อเหตุการณ์ในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่อาจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด 3.ภาพลักษณ์ส่วนบุคคลที่นำเสนอต่อสาธารณะจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองจนเกินไป แต่ 4.สุดท้ายเวลาทำงานจริงกับเจ้ากระทรวงที่จะเข้ามาบริหาร จะต้องประสานเชื่อมโยงทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงทำให้ คนที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ททท.คนใหม่ในสมัยหน้าถูกจับตามมองแบบไม่กระพริบ จะเป็นคนนอก หรือ คนใน ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยไม่ค้านสายตาของคนในองค์กร และผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรมท่องเที่ยวโดยรวม ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็คงจะรู้กัน!!!