ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การทำชีวิตนี้ให้น่าอยู่ เราต้องทำให้โลกนี้น่าอยู่ไปกับเราด้วย

ภายหลังจากที่ชุมพลลาสิกขาออกมา เขาก็พยายามหางานทำอยู่หลายอย่าง แต่ด้วยความที่เขาเรียนมาน้อย งานที่หาได้ก็มีแต่งานที่ใช้กำลังแรงกาย ที่หาง่ายที่สุดก็คือกรรมกรรับจ้างแบกหาม เพราะเป็นงานที่หนัก คนไม่ชอบทำ ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็คือกรรมกรก่อสร้าง แต่ก็เป็นงานที่มีขึ้นมีลง ตามฤดูกาล หรือแต่ที่จะมีการก่อสร้าง และที่แย่มาก ๆ ของการเป็นกรรมกรก่อสร้างก็คือ การย้ายไปตามที่ก่อสร้าง อีกทั้งรายได้ก็น้อย รายจ่ายก็มาก เพราะทำงานเหนื่อย ต้องกินยาบำรุงกำลังช่วย บางทีก็ผสมกับเหล้า ทำให้ติดเหล้าเข้าไปด้วยอีก การก่อสร้างบางอย่างก็อันตรายมาก เช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง ๆ หรืออุโมงค์ใต้ดิน เป็นต้น

ชุมพลมีเมียแล้วจึงต้องคิดหลายด้าน เขาอยากเป็นช่าง แต่เถ้าแก่ก็ต้องการคนที่เป็นงานบ้าง เพราะไม่ต้องเสียเวลาสอนให้ยุ่งยาก ดีที่เมียเขาได้งานทำความสะอาดตามบ้าน ซึ่งก็มีคนจ้างอยู่เป็นประจำ จึงพอมีรายได้มาเจือจุนกัน เขาเองก็ได้งานจากเจ้าของบ้านที่จ้างเมียเขาไปทำความสะอาดเหล่านั้น ที่บางทีก็มีงานที่ต้องใช้แรงผู้ชาย เช่น ขุดบ่อ ขุดดิน หรือตัดต้นไม้ รวมถึงที่เขายังไปทำงานขนวัสดุก่อสร้างที่ร้านก่อสร้าง แต่ก็ต้องออกไปข้างนอกไกลบ้าน ทั้งยังค่าแรงก็น้อยมาก ๆ เขาจึงยังมีงานและรายได้ที่ไม่แน่นอน

ในบ้านชายคลองหรือเรียกให้ถูกก็คือ “สลัมชายคลอง” ที่เขาปลูกอยู่อาศัยกับเมีย ก็ได้มาจากการแบ่งที่ประมาณสัก 4 คูณ 6 เมตร ของคนที่รู้จักที่เขามาอยู่ที่นี่มาก่อน บ้านแต่ละหลังก็มีขนาดใกล้ ๆ กัน ปลูกเป็นเพิงง่าย ๆ ด้วยไม้อัดเก่า ๆ บ้าง แผ่นกระดานเก่านานาชนิด ๆ บ้าง พื้นก็ยกสูงขึ้นมาสัก 1 ศอก ปูด้วยกระดานเก่า ๆ หลาย ๆ ขนาดผสมกัน ส่วนใหญ่ใช้เสื่อน้ำมันปูทับ มีชานด้านหน้าและหลังบ้านนิดหน่อย พอให้ออกมาหายใจ ทำครัว และซักล้าง หลังคานั้นก็มีตั้งแต่กระเบื้องเก่า ๆ ลงมาถึงสังกะสีกะดำกระด่าง แผ่นยิปซัม และผ้าใบมอมแมม ทั้งผนังบ้านและหลังคาบ้านก็แนบชิดติดกันเป็นพืด ไม่มีบ้านหรือ “ห้อง” ไหนที่มีรั้ว ทุกบ้านหรือห้องนั้นจึงต้องปิดประตูหน้าต่างอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้คนเห็นชีวิตการเคลื่อนไหวข้างใน ทุก ๆ วันจึงอยู่กันอย่างอึดอัด ยิ่งในหน้าร้อนด้วยแล้ว ยิ่งทุกข์ทรมานอย่างมาก ดีว่ายังมีน้ำในคลองช่วยลดความร้อนผ่านเป็นไอระเหยขึ้นมาให้รู้สึกเย็นได้บ้าง แต่ก็ต้องแลกกับกลิ่นน้ำเน่าที่ขังอยู่ในคลองสีดำปี๋นั้น ซึ่งทุกคนที่อยู่บ้านชายคลองนี้กลับทนกับกลิ่นของมันได้ จนเหมือนเป็นอากาศไร้กลิ่นแบบที่คนในที่อื่น ๆ เขาหายใจกันตามปกติ

น้ำสีดำในคลองจะดีขึ้นบ้างในหน้าฝน พอฝนตกมาก็จะมีน้ำสะอาดเข้ามาเพิ่ม ทำให้น้ำในคลองนั้นลดความเน่าคล้ำลงไป รวมถึงที่มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของเน่าเสียออกไปจากใต้ถุนบ้านที่ปลูกลอยล้ำลงไปในพื้นคลอง จึงเรียกได้ว่าธรรมชาติได้มาช่วยไล่ล้างสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เอาออกไป เด็ก ๆ บางคนก็กล้าลงไปว่ายเล่นในลำคลอง ซึ่งทำไม่ได้หรือไม่มีใครทำกันในฤดูอื่น บางคนไปเก็บเอาสิ่งของต่าง ๆ ที่ลอยมาตามน้ำ แต่ที่มีคนอยู่กันเป็นประจำไม่ว่าในฤดูไหน ๆ ก็คือ ไล่เก็บถุงพลาสติกที่ลอยละล่องมาตามน้ำวันละมาก ๆ ซึ่งว่ากันว่าส่วนใหญ่จะเป็นของพวกบ้านหลังใหญ่ ๆ หรือบ้านจัดสรร ที่อยู่เหนือคลองขึ้นไป ชอบแอบเอาขยะไปเทตามชายคลอง โดยอ้างว่าเทศบาลคือกรุงเทพมหานครไม่ค่อยมาเก็บขยะ ส่วนกรุงเทพมหานครก็โต้ว่าคนบางจำพวกมักง่าย ชอบเอาขยะไปเททิ้งตามอำเภอใจ ทั้งที่มีถังขยะตั้งไว้ให้ให้ทุกบ้าน แต่บางบ้านก็ไม่เอาถังขยะให้มาตั้งหน้าบ้าน เพราะจะต้องเสียค่าเก็บขยะเดือนละ 20 บาท ที่พนักงานเก็บขยะล้อเลียนเรียกบ้านที่ไม่เอาถังขยะนั้นว่า “เศรษฐีขี้เหนียว”

ชุมพลรู้จักพนักงานเก็บขยะบางคน เขาได้ความรู้จากคนเหล่านั้นว่า “ในขยะมีทองคำ” ความจริงเขาก็ไม่ได้รังเกียจขยะแต่อย่างใด เพราะเห็นคนในบ้านชายคลองบางคนก็เก็บขยะไปขายอยู่ด้วย เขาเพียงแต่กลัว “เชื้อโรค” โดยเฉพาะในเวลาที่คนแถวบ้านชายคลองเกิดเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย หรือเป็นโรคติดต่อ แต่เขาก็ได้ความรู้จากคนเก็บขยะว่า เราก็ต้องรักษาความสะอาด อย่าให้เข้าปากเข้าตา การแต่งกายก็ต้องมิดชิด แม้จะสกปรกตลอดวันก็ต้องทำความสะอาดทั้งมือและเท้าบ่อย ๆ  ผู้คนมักจะรังเกียจพนักงานที่ใส่ชุดเก็บขยะ หรือเฉพาะแต่เวลาที่ทำงานเก็บขยะ แต่พอแต่งตัวเป็นคนปกติก็ไม่เห็นมีใครรังเกียจ และถ้าไม่มีใครถามว่าทำงานอะไร ก็ไม่เห็นว่ามีใครจะไม่กล้าพูดคุยด้วย

เขาคุยกับพนักงานเก็บขยะจนได้ความรู้เกี่ยวกับ “วงการค้าขายขยะ” เริ่มจากคนที่ใช้ข้าวของแล้วเหลือทิ้งเป็นขยะ ซึ่งขยะก็มีหลายชนิด และมีราคาต่าง ๆ กัน ที่มีมากและหาได้ง่ายก็คือพวกถุงและขวดพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว กระป๋องใส่อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ แต่ขยะเหล่านี้ราคาค่อนข้างถูก ส่วนที่มีราคาดีแต่ก็จะหายากหรือมีคนแย่งกันเก็บมากหน่อยก็คือ พวกโลหะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก อลูมิเนียม ทองเหลือง และทองแดง แต่โลหะเหล่านี้ต้องระวังว่าเป็น “ของโจร” เพราะบางทีก็มีคนไปเก็บเอามาจากที่เขาห้าม เช่น ทองแดงในสายไฟฟ้าบนเสาไฟ หรือทองเหลืองที่ใช้ทำมิเตอร์ประปา เป็นต้น

เมื่อมีคนเก็บหามาขาย ก็ต้องมีคนรับซื้อขยะเหล่านั้น ซึ่งในสมัยแรก ๆ จะเป็นการซื้อขายกันตรง ๆ คือเก็บได้ก็เอาไปขายให้ผู้รับซื้อเลย ต่อมาตั้งแต่ที่มีโรงงานเอาขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิล ก็เกิดระบบคนกลางหรือพ่อค้าที่มาคอยรับเอาไปส่งโรงงานเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง ซึ่งพ่อค้าคนกลางเหล่านี้ก็จะมีตั้งแต่รายเล็ก ๆ ที่ใช้ซาเล้งหรือรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง รวบรวมรับซื้อเอาขยะตามตรอกซอกซอยออกไปขายเอง ต่อมาก็เป็นพวกที่มีรถกระบะมารับซื้อจากซาเล้งนั้นอีกที จนถึงพวกที่ตั้งเป็น “ร้านรับซื้อ” ที่มีใหญ่ ๆ อยู่หลายยี่ห้อ กระจายกันอยู่ตามพื้นที่ที่ลับหูลับตาสักหน่อย เพื่อรวบรวมขยะได้ทีละมาก ๆ จนถึงขั้นที่ทำโรงงานรีไซเคิลเองก็มี ซึ่งที่สุดของวงการนี้ก็คือ การค้าขายระดับนานาชาติ ถึงขั้นที่มีการรับซื้อขยะจากต่างประเทศบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลี มารีไซเคิล ซึ่งก็ทำรายได้ดีมาก ๆ และกำลังเป็นกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ชุมพลเริ่มจากไปหาคนรู้จักที่เขามีร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ตอนแรกก็ว่าจะไปขอเรียนวิชาซ่อมมอเตอร์ไซค์ แต่เทียวไปเทียวมาเพื่อนก็ไม่มีเวลาสอนให้เสียที ทั้งที่ชุมพลก็พยายามขอเป็นลูกมือ แต่เพื่อนก็บอกว่าเกะกะเสียเวลา วันหนึ่งชุมพลจึงบอกว่าขอมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ ที่มีลูกค้าทิ้งไว้ไปใช้สักคัน โดยจะผ่อนให้วันละ 50 บาทหรือ 100 บาท แล้วแต่ว่าจะขายของได้มากหรือน้อย  “ของ” ที่ว่านี้ก็คือ “ขยะ”

ชุมพลเอาเศษเหล็กและล้อยางมาประกอบกับมอเตอร์ไซค์เก่าคันหนึ่งเป็นซาเล้ง ตอนแรกเขากะว่าพ่นสีให้สดใสสวยงาม แต่เพื่อนที่ยอมให้ผ่อนรถมอเตอร์ไซค์เก่ากลับบอกว่า เมื่อเขาจะขายของเก่า มันก็ไม่ได้ต้องเอารถสวยงามอะไรไปขน ก็เอาที่มันเก่า ๆ ด้วยกันนี่แหละไปขนซื้อขาย

“นี่แหละของขลัง” เพื่อนบอก

จากวันนั้นซาเล้งคันนี้ก็ขลังจริง ๆ เพราะมันช่วยให้เขาทำมาค้าขึ้น “ขายขยะ” ได้ดีมากทุกวัน