เนื่องในโอกาสที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ 37 ปี วันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยนานาชาติจึงได้จัดกิจกรรม The MUIC 37th Anniversary: Creating Global Citizens และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันครบรอบการก่อตั้ง วันที่ 23 มีนาคม 2566 ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องโครงการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียน การสอน หลักสูตรวิชาโท สาขาวิชาการออกแบบนวัตกรรมด้านสุขภาพ (Designing Health Innovation) และ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ (Biodesign) หลักสูตรนานาชาติ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ศ.พญ.จุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เสวนาหัวข้อ Health Innovation Design Collaboration โดยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ร่วมกับศาสตราจารย์ นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากนั้น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ "Creating Global Citizens" และปิดท้ายกับกิจกรรมเสวนา"Lifelong Learning, Global Citizenship, and Sustainabilty" โดยศิษย์เก่าของวิทยาลัยนานาชาติ ได้แก่ คุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ CEO CirPlas Tech Co, Ltd., คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย Marine Biologist, Conservation Photojournalist และคุณศุภาวรรณ ศุภณีดิส Fim and Cultural Studies Enthusiast ณ ห้อง Screening Room วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 

ศ.พญ.จุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College :MUIC) เปิดเผยถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( Memorandum of Understanding : MOU ) ทางวิชาการเรื่องโครงการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หลักสูตรวิชาโท สาขาวิชา Designing Health Innovations หรือการออกแบบนวัตกรรมด้านสุขภาพ และ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ (Biodesign) หลักสูตรนานาชาติ กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Faculty of Medicine Siriraj Hospital) ว่า วิทยาลัยนานาชาติฯ เล็งเห็นว่า หลักสูตร Biodesign ซึ่งมีสอนอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดี เพราะเป็นการเรียนที่มุ่งเน้นการปฏิบัตินำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ สอนให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ ศึกษาวิจัยจนได้กระบวนการใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงนำมาเป็นหลักสูตรวิชาโท (minor) ให้นักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติฯ ได้เรียน และไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเท่านั้น จึงทำให้เกิดหลักสูตรนี้ขึ้นมา โดยให้เป็นวิชาโทที่นักศึกษาทุกๆ หลักสูตรใน MUIC สามารถศึกษา และได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อรอการอนุมัติจากวิทยาลัยมหิดล คาดว่าจะสามาถเปิดสอนได้ในภาคการศึกษาใหม่เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีนักศึกษาสนใจเรียนไม่ต่ำกว่าปีละ 30 คน

ส่วนหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ นั้นจะทำการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นหลักสูตร ที่คณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติฯ ที่มีความชำนาญด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการแพทย์ จะเข้าไปร่วมสอน เพื่อให้ผู้เรียนที่เป็นทั้งนักศึกษาแพทย์และสาขาอื่นๆ มีองค์ความรู้ที่กว้างขึ้น ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความรู้ลึกทางด้านการแพทย์อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่รู้กว้างในด้านอื่นๆ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้าไปช่วยเติมความรู้ในส่วนนี้ เช่น ความรู้ทางธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ครบวงจรทั้งการวิจัย การผลิต การจดสิทธิบัตร การนำผลผลิตที่ได้ออกไปสู่ตลาด คือเขาจะรู้หมดว่าจะผลิตอะไร ผลิตแล้วขายให้ใคร ควรขายเท่าไหร่ จะสื่อสารอย่างไรให้คนสนใจในสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมาได้ เพราะปลายทางของ innovation คือสินค้า หรือบริการ ต้องนำออกมาใช้ได้จริง สำหรับหลักสูตรวิชาโทที่เปิดมี 5 วิชาประกอบด้วย 1.Community Health Innovations 2.Design Thinking in Health 3.Case Studies in Health Innovations 4.Cutting-Edge Technology for Health Innovations และ 5.Entrepreneurship and Innovation in Science

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้งสองสถาบันเห็นตรงกันว่าหากได้แลกเปลี่ยนนักศึกษาซึ่งกันและกันจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ฯ มีหน้าที่ผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่วิทยาลัยนานาชาติฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นนานาชาติที่โดดเด่น เมื่อมาร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักศึกษามีมุมมองวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางมากขึ้น สามารถประยุกต์เอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้

"เราเป็นแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจแต่ว่ามีความจำเป็นเพราะเราต้องมองถึงความยั่งยืน ความอยู่รอด การบริหารจัดการ การที่เราต้องคิดเรื่องใหม่ๆ ที่มีผลดีต่อตัวเราเอง มีผลดีต่อคนไข้ ต่อสังคม ประเทศชาติ มันมีประโยชน์ทั้งหมด วิชาการหยุดนิ่งไม่ได้เพราะแพทย์ต้องเจออะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เราจึงต้องการนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ ยา หรือผลิตภัณฑ์ที่จะมาแก้ปัญหาทำให้สุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น"