ดังที่ว่าการเรียนรู้ไม่เคยมีวันสิ้นสุด การศึกษาหาความรู้เป็นพลวัตของชีวิต ดังนี้แล้วมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาชีวิต คนทุกวัยจึงสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือวิธีการทำงานของตนเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ด้านสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพ พัฒนาความรู้ผู้สูงอายุ จึงร่วมกับโครงการเกษียณสุนทรีย์เขียนชีวิต จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้การเขียน “สารคดีชีวิต” ใช้งานวรรณศิลป์กระตุ้นให้คนวัยเกษียณมีความกระตือรือร้น พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่นำไปใช้พัฒนาตนเอง

นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว จะมีคนไทยอายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นปีละ1 ล้านคน ดังนั้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะการสนับสนุนสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง สศร.จึงจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้การเขียน “สารคดีชีวิต” โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และนักเขียนมากประสบการณ์ด้านวรรณศิลป์มาร่วมให้ความรู้ด้านงานเขียน

ด้าน นายนฤเบศ สมฤทธิ์ ผู้จัดการโครงการเกษียณสุนทรีย์เขียนชีวิต กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้จะได้เรียนรู้ในรูปแบบการคิดโครงเรื่อง การย่อเรื่อง การเขียนความเรียงและสารคดี  ซึ่งต้องการให้คนวัยเกษียณทั้งหลายได้มีเวลาหยุดพินิจชีวิต จับปากกา และบันทึกเรื่องราวด้วยการเขียน ซึ่งปลายทางของโครงการฯและผลงานจากกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดเป็นงานศิลปะจากผู้สูงวัยชิ้นใหญ่ เพื่อร่วมแสดงในช่วงงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ThailandBiennale,ChiangRai 2023 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ด้วย

สำหรับโครงการฯ เปิดรับผู้เกษียณอายุ 60 – 75 ปี มีความสนใจการเขียนหนังสือ มีพื้นฐานการเขียน-อ่าน ภาษาไทย สามารถใช้คอมพิวเตอร์และสื่อสารออนไลน์ สามารถสร้างสรรค์งานได้ตามกระบวนการ และเข้าร่วมอบรมในวันที่ 27 – 28 พ.ค. สถานที่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยจะรับเข้าอบรมเพียง 30 คนเท่านั้น สามารถสมัครด้วยการเขียนหรือพิมพ์ เหตุผล “ถ้าฉันเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ข้อคิดหลักที่จะให้แก่ผู้อ่านคือ...” มี ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4  พร้อมแนะนำตัวเอง ความยาวไม่เกิน 10 บรรทัด รูปถ่าย ส่งมายังอีเมล์ [email protected] เปิดรับสมัครถึงวันที่ 30 เม.ย. นี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้อบรมฟรี